คุณรู้ไหมว่า...ใครเป็นใคร..? บนโลกใบนี้

คุณรู้ไหมว่า...ใครเป็นใคร..? บนโลกใบนี้

William Penn : วิลเลียม เพนน์ (ค.ศ.1644-1718)


William Penn : วิลเลียม  เพนน์  ผู้นำกลุ่มลัทธิเควกเกอร์ (Quakers) ชาวอังกฤษ  และผู้ก่อตั้งอาณานิคมเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ที่สุขสงบในสหรัฐ (ค.ศ.1681-1783) และเขายังสนับสนุนเสรีภาพในทางความเชื่อและการนับถือศาสนาของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่..ในสหรัฐอเมริกาด้วย

วิลเลียม  เพนน์ เกิดวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.1644 ที่ Tower Hill  ในลอนดอน  ประเทศอังกฤษ  บิดาชื่อ เซอร์วิลเลียม เพนน์ (Sir William Penn) เป็นนายพลเรือเอกแห่งกองทัพเครือจักรภพ (ไอร์แลนด์และสก็อตแลนด์) ในช่วงสงครามกลางเมืองของอังกฤษ (ระหว่างกลุ่มโอลิเวอร์ ครอมเวลล์และพระเจ้าชาร์ลที่ 1 : ค.ศ.1642-1651) และเมื่อเพนน์ อายุได้ 5 ขวบ  พระเจ้าชาร์ล..ก็ถูกตัดศรีษะ..ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษมีปัญหาความวุ่นวายภายในประเทศอย่างมาก  ในวัยเยาว์..ครอบครัวของเพนน์ ได้ย้ายไปอยู่เอสเซกซ์ (Essex) ชีวิตในชนบทที่สงบสุข..ได้สร้างความประทับใจให้กับเพนน์อย่างมาก  ในเบื้องต้น  เขาได้รับการศึกษาที่โรงเรียน Chigwell  และต่อมา..เพนน์ได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Christ Church Oxford) แต่ถูกขับไล่ออกจากมหาวิทยาลัย  เพราะเขามีความเชื่อทางศาสนาแบบเพียวริตัน (Puritans) ที่ต้องการปฏิรูปคริสตศาสนาในอังกฤษ

ภาพ วิลเลียม เพนน์ ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าชาร์ลที่ 2 วาดโดย Jean Leon Gerome : 1680

ต่อมา..ในปี 1659  ครอบครัวของเพนน์ก็ถูกเนรเทศไปไอร์แลนด์โดยคำสั่งของครอมเวลล์ (เนื่องด้วยเซอร์ วิลเลียม เพนน์ผู้บิดาทำภาระกิจล้มเหลวในทะเลแคลริเบียนและถูกสงสัยว่าเป็นผู้สนับสนุนการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์) ในช่วงเวลาที่อยู่ในไอร์แลนด์..เพนน์อายุ 16 ปี และเริ่มเข้าร่วมกับกลุ่ม The Religious Society Of Friends หรือเควกเกอร์ (Quakers) ซึ่งเป็นกลุ่มเสรีนิยมที่เคลื่อนไหวทางศาสนา..และการเมืองด้วย  กระทั้งในปี 1660  เมื่อครอมเวลล์ตาย  ครอบครัวเพนน์ก็ได้เดินทางกลับอังกฤษ  เซอร์วิลเลียม เพนน์ ผู้บิดาได้มีส่วนร่วมอย่างมากในการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ในอังกฤษ  และช่วยนำพระเจ้าชาร์ลที่ 2 กลับคืนสู่ราชบัลลังค์อีกครั้ง  จนได้รับปูนบำเหน็จรางวัลแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน (Knight) และเมื่อ..อังกฤษได้กลับมาปกครองด้วยระบบกษัตริย์อีกครั้ง  พระเจ้าชาร์ลที่ 2 ทรงมีนโบายจำกัดทางศาสนา  โดยทรงออกกฎหมายให้ในนิกายแองกิกัล หรือ Church of England เป็นศาสนาประจำชาติ  ด้วยเหตุนี้  กลุ่มนิกายอื่น..เช่น เพรสไบรทีเรียน  แบ็บทิสต์และเควกเกอร์..ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นพวกนอกรีต..ซึ่งมีโทษให้จำคุก..แก่ผู้ที่นับถือนิกายเหล่านี้ทุกคนด้วย

ในปี ค.ศ.1669-70  เพนน์ถูกบิดาส่งตัวไปไอร์แลนด์อีกครั้ง  เพื่อจัดการเรื่องทรัพย์สินของครอบครัว (family landholding) ซึ่งในครั้งนี้..เขาได้เข้าร่วมการประชุมกับกลุ่มเควกเกอร๋หลายๆครั้ง..และได้อยู่ร่วมกับครอบครัวเควกเกอร์ชั้นนำด้วย (เพนน์เป็นเพื่อนสนิทของ George Fox ผู้ก่อตั้งกลุ่มเควกเกอร์ที่ออกเคลื่อนไหว..และเดินทางด้วยกันไปทั่วยุโรปและอังกฤษ) ซึ่งทำให้เพนน์มีความศรัทธาในกลุ่มเควกเกอร์มาก  ในกาลต่อมา..แม้เพนน์จะรู้ว่า..มีอันตรายในการเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มเควกเกอร์ในอังกฤษ  แต่เขาก็ไม่เกรงกลัว..และเริ่มการกล่าวสุนทรพจน์ในที่สาธารณะและพิมพ์เอกสารเผยแพร่แนวคิดแบบเควกเกอร์..จนเขาถูกจับติดคุกระยะสั้นๆที่ Tower of London ถึง 4 ครั้ง  
  
ในปี ค.ศ.1682 วิลเลียม  เพนน์ได้เดินทางมา..อเมริกาดินแดนอาณานิคมใหม่  เขาได้ช่วยออกแบบผังเมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia : ที่มีความหมายว่า " ความรักฉันพี่น้อง ") โดยออกแบบให้เมืองมีถนนกว้างและจุดตัดเป็นรูปสีเหลี่ยม  ที่ต่อมา..กลายเป็นเมืองหลวงของอาณานิคม  และเนื่องด้วย..เพนน์ได้รับมรดกจากบิดาเป็นที่ดินในแถบเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ใกล้แม่น้ำเดลาแวร์ (Delaware River) เขาจึงมีความต้องการที่จะสร้างอาณานิคมที่สงบสุขและเป็นที่ตั้งมั่นของชาวเควกเกอร์..และเป็นที่ที่ให้ทุกคนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา  ดังนั้น  เพนน์จึงได้จ่ายเงินค่าที่ดินจำนวนหนึ่งแก่อินเดียนแดงท้องถิ่น  และทำสัญญาเพื่อป้องกันปัญหาการโจมตีจากชาวพื้นเมือง    และเขาได้เขียนเอกสารทั้งภาษาอังกฤษ  ฝรั่งเศส  ดัทช์และเยอรมัน  เพื่อเชิญชวนชาวยุโรปที่สนใจให้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากในเพนซิลเวเนีย  อีกทั้งยังออกนโนบายให้คนจนได้มีโอกาสสร้างฐานะให้ตนเองก่อนด้วย  โดยกำหนดให้ผู้ชายทุกคนได้มีสิทธิถือครองที่ดิน 40 เอเคอร์ในราคาเพียง 10 เหรียญ  และผ่อนปรนให้จ่ายเงินจำนวนนี้..หลังจากการเก็บเกี่ยวพืชผลในครั้งแรกได้แล้ว  ด้วยเหตุนี้  ชาวเควกเกอร์จำนวนมากในอังกฤษและชาวยุโรปมากมายที่ได้รับรู้ข่าวเรื่องอาณานิคมใหม่นี้..จึงหลังไหลเข้ามาในเพนซิลเวเนีย  โดยชาวอาณานิคมเพนซิลเวเนียส่วนใหญ่..ประกอบอาชีพทำไร่  ปลูกข้าว  ทำป่าไม้และขายขนสัตว์  เป็นต้น

ภาพ  ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเพนซิลเวเนีย  ที่เขียนโดย วิลเลียม  เพนน์ ค.ศ.1618  

ในการปกครอง วิลเลียม เพนน์  ได้ตั้งให้อาณานิคมมี 2 สภา คือ  สภาสูงที่มีหน้าที่เสนอกฎหมาย..และสภาล่างทำหน้าที่รับรองหรือปฏิเสธกฎหมาย  โดยให้ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและผู้ที่เสียภาษีมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้  และอาณานิคมได้ให้การคุ้มครองในสิทธิส่วนบุคคลรวมถึงสิทธิในทรัพย์สินด้วย นอกจากนี้..เพนน์ยังได้ก่อตั้งอาณานิคมเดลาแวร์ในปี ค.ศ.1683 อีกด้วย

หมายเหตุ : เพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) เป็นดินแดนอาณานิคมเก่าของสวีเดน  ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำเดลาแวร์ (Delaware River) หลังจากที่อังกฤษครอบครองในปี ค.ศ.1618  พระเจ้าชาร์ลที่ 2 ได้ทรงมอบดินแดนส่วนนี้ให้กับวิลเลียม เพนน์  เพื่อเป็นการชดใช้หนี้ที่พระเจ้าชาร์ลที่ 2 ได้มีต่อบิดาของเพนน์  เดิมทีดินแดนนี้มีชื่อว่า ซิลวาเนีย (Sylvania) ที่แปลว่า " ป่า " ต่อมากษัตรฺิย์ชาร์ลได้เติมคำว่า " เพน " (Penn) เข้าไปด้วย  เพื่อเป็นเกียรติแก่ตระกูลเพน  ด้วยเหตุนี้ เพนซิลเวเนียจึงเป็นดินแดนของตระกูลเพนน์  ตั้งแต่นั้นมา... 

วาทะกรรม : " อย่าเพิ่งยอมแพ้  ตราบเท่าที่ยังมีความหวัง  แต่อย่าหวังจนเกินเหตุผล  เพราะนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนา  มากกว่าการพินิจพิจารณา "

Basho : บาโช (ค.ศ.1644-1694)



Basho : บาโช  หรือ " มัตสึโอะ  บาโช " (Matsuo Basho) นักกวีชาวญี่ปุ่น  ในสมัยเอโดะ  ผู้เป็นปรมาจารย์ของการเขียนบทกวี " ไฮกุ " (haiku) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในช่วงปลายศตวรรษที่ 19  อันเป็นเสมือนรากฐานทางศิลปะและวรรณกรรมของญี่ปุ่น  และมีความเกี่ยวข้องอย่างแน่นแฟ้นกับลัทธิเต๋าและนิกายเซนในญี่ปุ่นด้วย

บาโช เกิดปี 1644  ในเมืองอุเอโนะจังหวัดอิงะ (Iga) ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดมิเอะ (Mie prefecture) บิดาเป็นซามูไรระดับล่าง..ที่ทำงานอยู่ในโรงครัว  ต่อมา..เมื่อบาโชเริ่มโตเป็นหนุ่ม  หลังจากการใช้ชีวิตหลายปี..ภายใต้วิถีชีวิตซามูไร  เขาได้ค้นพบว่า..การเป็นนักประพันธ์นั้นเหมาะกับเขามากกว่า  บาโชจึงได้ละทิ้งวิถีชีวิตซามูไร  ประจวบเหมาะ..ในปี ค.ศ. 1666 เมื่อบาโชอายุ 22 ปี  เจ้านายเก่าที่เขาเคยรับใช้ได้สิ้นชีวิตลง  บาโชจึงเลือกกลับไปบ้าน..แทนที่จะรับตำแหน่งต่อในฐานะซามูไร หลังจากนั้น..เขาย้ายไปเอโดะในปี ค.ศ. 1675 (ปัจจุบันคือโตเกียว) ต่อมาในปี ค.ศ. 1678 ที่เอโดะ เขาได้รับตำแหน่งให้เป็นปรมาจารย์ไฮกุ [Haiku master (Sosho)] และเริ่มใช้ชีวิตแบบนักกวีอาชีพ ในปี ค.ศ. 1680 เขาได้ย้ายไปยังฟุกุงะวะ (ส่วนหนึ่งของเอะโดะ) และได้เริ่มปลูกต้นบาโช (芭蕉 Bashō ต้นกล้วย) ที่เขาชื่นชอบไว้ในสวนบริเวณบ้าน  ซึ่งในภายหลัง..เขาได้ใช้นามแฝงว่า " บาโช " ด้วย

ภาพ  ลายมือของท่านบาโชในบทกวี กบตัวน้อย

ที่สระน้ำโบราณ
กบตัวน้อยกระโจนลงไป
เสียงน้ำกระจาย จ๋อม

ในช่วงชีวิต  บาโชได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่ว  ทั้งสถานที่ที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์และสถานที่ที่สวยงามของญี่ปุ่น  ซึ่งมีปรากฏอยู่ในงานประพันธ์ของเขา  และในการเดินทางบาโชได้พบสานุศิษย์และเพื่อนร่วมเดินทางมากมาย  และเขาสอนพวกสานุศิษย์ด้วยเร็งงะ (連歌 renga : บทกวีดังเดิมของญี่ปุ่น) 

หนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ เส้นทางสายเล็ก ๆ ไปสู่ทางเหนือ (The Narrow Road Through the Deep North, 奥の細道 Oku no Hosomichi) ที่เขียนขึ้นภายหลัง..จากการเดินทางของบาโชและลูกศิษย์  ที่เริ่มออกเดินทางจากเอะโดะในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1689  ตามเส้นทางไปโทโฮะกุและโฮะกุริกุ จากนั้นจึงกลับสู่เอะโดะในปี ค.ศ. 1691 ซึ่งการเดินทางในหนังสือนี้จบลงที่โองะกิและมิโนะ (ปัจจุบันคือ จังหวัดกิฟุ)

บาโชเสียชีวิตด้วยอาการมีแผลในกระเพาะอาหาร..ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิในปี ค.ศ. 1694 ที่โอซาก้า ท่ามกลางลูกศิษย์ที่ห้อมล้อมเขาอยู่ด้วยความโศกเศร้าอาลัย ก่อนสิ้นใจ บาโชได้เขียนไฮกุ  สุดท้ายไว้ว่า

ในการเดินทางฉันป่วย
ความฝันวิ่งอยู่รอบกาย
ในทุ่งที่ปกคลุมด้วยหญ้าแห้ง  

หมายเหตุ : บทกวีไฮกุมีรูปแบบพิเศษ  เพราะมีฉันทลักษณ์ที่แตกต่างจากบทกวีทั่วไป  คือ  เน้นการลดทอนให้น้อยลง  เหลือเพียงตัวอักษร 3 วรรค ยาว 5-7-5 รวมเป็นตัวอักษรเพียง 17 ตัวเท่านั้น  ทั้งนี้..เพราะไฮกุ..มุ่งสะท้อนถึงความเรียบง่าย  ความไร้แบบแผน  และความเป็นจริงของธรรมชาติ..และภาวะของจิตใจ  ความรู้สึก  อย่างตรงไปตรงมา  ด้วยกลวิธีที่สั้นกระชับ  และฉับพลัน  สรุปหลักการ คือ การนำเสนอภาวะแห่งสัจจะ..ที่เป็นจริงและสวยงาม  ในชั่วขณะหนึ่ง  นั่นเอง

Sir Isaac Newton : เซอร์ ไอแซก นิวตัน (ค.ศ.1642-1727)



Sir Isaac Newton : เซอร์ ไอแซก นิวตัน  นักปรัชญาธรรมชาติ  นักคณิตศาสตร์และนักฟิสกส์ชาวอังกฤษ  ผู้วางรากฐานของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่  ในช่วงปี 1665-1666  และได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทรงอิทธพลมากที่สุดของโลกนี้

เซอร์ ไอแซก นิวตัน  เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1643 ที่วูลส์ธอร์พ (Woolsthorpe) หมู่บ้านเล็กๆในชนบท..เขตลินคอล์นเชียร์ (Lincolnshire) ประเทศอังกฤษ  ในครอบครัวเจ้าของที่ดินที่ไม่ใหญ่โตนัก  โดยบิดาได้เสียชีวิตก่อนเขาเกิด 3 เดือน  เล่ากันว่า  เมื่อแรกเกิดนิวตันมีตัวเล็กมาก  เพราะเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนด  ซึ่งมารดานางฮานนาห์ อายส์คัฟ (Hannah Ayscough) ไม่คิดว่าเขาจะรอดชีวิตได้  เธอกล่าวว่า..เขาตัวเล็กกระจ้อยร่อย..จนสามารถเอานิวตันไปใส่ไว้ในเหยือกควอร์ทได้ (ขนาดประมาณ 1.1 ลิตร)  แต่กระนั้น..นิวตันก็รอดชีวิตมาได้  และเมื่อเขาอายุ 3 ขวบ  มารดาของเขาก็แต่งงานใหม่  และทิ้งนิวตันไว้ให้มาร์เกรีย์ อายส์คัฟ (Margery Ayscough) คุณยายของนิวตันเป็นผู้เลี้ยงดู  ซึ่งนั้น..ทำให้เขาไม่ค่อยลงรอยกัน..กับมารดาและพ่อเลี้ยงเรื่อยมา  ในวัยเด็ก..นิวตันค่อนข้างเป็นเด็กบอบบาง  เขาไม่ชอบเล่นอะไรที่ต้องใช้กำลังกายมากนัก  แต่เขามักประดิษฐสิ่งต่างๆไปเล่นกับเพื่อนๆเสมอ  นอกจากนี้เขายังสามารถปั้นรูปจำลองต่างๆได้ดีอีกด้วย

เมื่อนิวตันอายุ 12 - 17 ปี  เขาเข้าเรียนที่คิงส์สกูล แกรนแฮม (King's School Grantham) ต่อมาในปี 1659  เมื่อมารดาเป็นหม้ายครั้งที่ 2  นิวตันต้องกลับบ้านเกิด..และถูกมารดาบังคับให้..เขาทำงานในฟาร์ม  ซึ่งได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากบิดาเก่า  แต่นิวตันเกลียดการเป็นชาวนา  ซึ่งครูใหญ่ที่คิงส์สกูลได้ช่วยพูดโน้มน้าวให้มารดาของนิวตัวส่งเขากลับไปเรียนต่อให้จบ  และแรงผลักดันครั้งนี้เอง  ส่งผลให้นิวตันกลายเป็นนักเรียนที่ขยันขันแข็งและมีผลการเรียนสูงที่สุด..ในคิงส์สกูล

ภาพ  การกระจายของแสงผ่านแท่งแก้วปริซิม (Prism) จนเกิดเป็นแสงสีรุ้ง (Spectrum)

ในปี ค.ศ.1661  นิวตันได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยทรินิตี้ เคมบริดจ์ (Trinity College Cambridge) ในฐานะซีซาร์ (sizar : คือทุนเรียนแบบที่นักศึกษาต้องทำงานไปด้วย..เพื่อแลกกับที่พัก..อาหารและค่าธรรมเนียม) โดยวิทยาลัยในยุคนั้น..ยังคงใช้การเรียนการสอนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดของอริสโตเติล..เป็นหลัก  ซึ่งนิวตันไม่ค่อยพอใจสักเท่าไหร่..แต่เขากลับชอบศึกษาในแนวคิดของนักปรัชญาสมัยใหม่ เช่น เดส์การ์ตส์ และนักดาราศาตร์ เช่น โคเปอร์นิคัส, กาลิเลโอและเคปเลอร์มากกว่า  ดังนั้น  ในช่วงเวลา..ที่นิวตันศึกษาในเคมบริดจ์จึงไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่นมากนัก  กระทั้ง..จบการศึกษาได้รับปริญญาตรีในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1665  และในปี ค.ศ. 1664-65 ก่อนที่นิวตันจะได้รับปริญญาโท  ก็เกิดกาฬโรคระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วกรุงลอนดอน  ทางมหาวิทยาลัยจึงถูกสั่งปิด  ดังนั้น  เหล่านักศึกษาจึงต่างแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาเดิม..ซึ่งนิวตันก็ได้เดินทางกลับวูลส์ธอร์พบ้านเกิด  และในช่วงเวลา 2 ปีสำคัญ  ที่นิวตันได้ศึกษาด้วยตัวเองที่บ้านในวูลส์ธอร์พ..กลับได้สร้างคุณประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่..ให้กับวงการวิทยาศาสตร์โลก..เพราะเขาสามารถค้นพบทฤษฏีที่สำคัญ 3 เรื่องด้วยกัน

ผลงานสำคัญ :  ชิ้นแรก..นิวตันได้ค้นพบวิชาคณิตศาสตร์แขนงใหม่ที่เรียกกันว่า " แคลคูลัส " (Calculus) ซึ่งก่อนหน้านี้  กาลิเลโอได้แสดงวิธีหาแรงจากการเคลื่อนที่ของวัตถุไว้เพียงคราวๆเท่านั้น  ที่ต่อมาเดส์การ์ทส์ได้เอาสมการทางพีชคณิต..มาช่วยในการคำนวณเกี่ยวกับจุดและเส้นตามวิธีการของกาลิเลโอนั้น..ให้ง่ายเข้า  แต่ก็ไม่ได้อธิบายใว้อย่างละเอียด..มากนัก  กระทั้ง..ในปี ค.ศ.1665 ที่นิวตันได้แสดงถึงวิธีคำนวณเกี่ยวกับเส้นโค้งและพื้นที่  ที่เขาเรียกว่า " Method of fluxions " ซึ่งในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ " Differential and Integral Calculus " ซึ่งเขาได้ทดลองคำนวณเกี่ยวกับพื้นที่ Hyperbola อย่างละเอียด..จนได้ทศนิยมถึง 52 ตำแหน่ง  นอกจากนี้..นิวตันยังค้นพบทฤษฏีทวินาม (Binomial Theorem) และวิธีการกระจายอนุกรม (Method of expression) ของพีชคณิตอีกด้วย

ผลงานชิ้นที่สอง  นิวตันได้ค้นพบธรรมชาติของแสง คือ ในวันหนึ่ง..เมื่อเขากำลังทดลองฝนเลนส์เพื่อจะทำเป็นกล้องโทรทัศน์ใช้ดูสิ่งต่างๆ โดยไม่ให้มีสีแทรก  เขาได้พบว่า..เมื่อเอาแท่งแก้วรูปสามเหลี่ยม (Prism) ในห้องที่มืดสนิท  ให้แสงผ่านรูเล็กๆของฝาผนังเข้ามาตกกระทบบนแท่งแก้วปริซิม..เมื่อแสงทะลุผ่านแท่งแก้วปริซึม  แสงแดดจะถูกขยายออกเป็นแสง 7 สี ได้แก่ สีม่วง, คราม, น้ำเงิน, เขียว, เหลือง, แสดและสีแดง ที่เรียกกันว่าสีรุ้ง (Spectrum) ซึ่งนิวตันได้พยายามอยู่นาน..ที่จะทำให้เลนส์ที่ใช้ในกล้องโทรทัศน์..ปราศจากสีรุ้งหรือสีแทรก  แต่ในที่สุด  เขาก็พบว่าไม่สามารถทำได้สำเร็จ  ถ้า..เขายังจะสร้างกล้องโทรทัศน์โดยใช้เลนส์แบบหักเหแสงอยู่  ดังนั้น  เขาจึงหันไปสร้างกล้องโทรทัศน์แบบสะท้อนแสงแทน  โดยใช้เลนส์เว้าทำหน้าที่แทนเลนส์วัตถุ  ส่วนเลนส์ตาใช้คงใช้เลนส์นูนตามเดิม  ซึ่งนิวตันได้สร้างกล้องโทรทัศน์ขนานยาว 6 นิ้ว  ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของกระจกเว้า 1 นิ้ว และกำลังขยาย 40 เท่าได้สำเร็จ  ซึ่งกล้องโทรทัศน์ของนิวตันได้กลายต้นแบบ  ที่ต่อมา..ได้ถูกพัฒนาเป็นกล้องโทรทัศน์ขนิดหักเหแสงในปัจจุบันนี้  เช่น  กล้องพาราโบลา (Parabolar) ขนาดเส่้นผ่าศูนย์กลาง 200 นิ้ว ของหอดูดาว California Institute of Technology บนยอดเขาพาโลมาร์ (Mount Palomar) ในแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น

หลังจากประสบความสำเร็จในการค้นคว้าเกี่ยวกับแสงอาทิตย์แล้ว  ในปี ค.ศ.1667  นิวตันได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์แคลคูลัสที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  และได้รับการแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตในปี ค.ศ.1672  และเป็นประธานราชสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งลอนดอน (Royal Society) ในปี ค.ศ.1703 และเขายังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงกษาปณ์ในปี 1699 ด้วย  แต่ถึงกระนั้น..ฐานะของนิวตันก็ไม่ได้ร่ำรวยขึ้น..อย่างที่คนทั่วๆไปคิด  เพราะเขาได้ใช้จ่าย..รายได้ส่วนใหญ่..หมดเปลืองไปในการศึกษาและทดลองทางวิทยาศาสตร์อยู่ตลอดเวลา

ภาพ  ต้นฉบับหนังสือ " Principia " ของนิวตัน ในปี ค.ศ.1667

ผลงานชิ้นที่สาม  นิวตันได้ค้นพบกฎแรงโน้มถ่วง (Law of Gravitation) คือ ในคืนวันหนึ่ง..ที่จันทร์เต็มดวง  และท้องโปล่งสวยงามมาก  นิวตันกำลังนั่งชมจันทร์อยู่.,และครุ่นคิดไปด้วยว่า..เหตุใดหนอ ?  ดวงจันทร์จึงต้องหมุนรอบโลกด้วย  ในทันใด  เขาก็ได้ยินเสียงลูกแอ็ปเปิลตกลงสู่พื้นดิน..จึงเกิดคำถามในใจขึ้นว่า..ทำไม ?  แอ็ปเปิลจึงไม่ลอยขึ้นข้างบนบ้าง ?  และแรงใด..? ที่กระทำให้ลูกแอ็ปเปิลตกลงพื้น ดังนั้น  นิวตันจึงเริ่มทดลอง..โดยเอาก้อนหินเล็กๆผูกไว้ที่ปลายเชือกข้างหนึ่ง  ส่วนอีกปลายหนึ่งใช้มือจับไว้..แล้วแกว่งโดยแรง  ปรากฏว่าก้อนหินนั้นหมุนไปได้รอบๆตัวของเขา..โดยไม่หลุดลอยไป  จากการทดลองนี้เอง  ที่ทำให้เขาได้ความคิดว่า..ที่ก้อนหินไม่หลุดลอยออกไป..ก็เพราะแรงดึงที่ปลายเชือกนั่นเอง  ดังนั้น  เขาจึงสรุปได้ว่า..เหตุที่ลูกแอ็ปเปิลตกลงสุ่พื้นดิน..ก็เนื่องจากแรงดึงดูดของโลก  ซึ่งเป็นแรงเดียวกันที่ " ดึง " ดวงจันทร์เอาไว้ให้โคจรรอบโลกเป็นวงรี  และอธิบายอีกว่า..วัตถุต่างๆในเอกภพต่างก็มีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน  โดยแนวคิดนี้..มีผลคำนวณที่ยืนยันให้สมบูรณ์ขึ้น  เมื่อ..นิวตันได้เขียนจดหมายโต้ตอบกับโรเบิรต์ ฮุก และจากกฎนี้เอง..ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลัง..ใช้เป็นหลักการในการคำนวณการยิงจรวดออกไปนอกโลกได้ (คือ หากต้องการให้จรวดหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของโลก..ไปสู่อวกาศได้  ต้องเพิ่มความเร็วจรวดเป็น 15 กม./วินาที ) นอกจากนี้..นิวตันยังค้นพบกฎของการเคลื่อนที่ (Laws of Motion) อีกด้วย  และตีพิมพ์หนังสือจำนวน 3 เล่มที่ชื่อว่า " Principia " หรือ (Philosophiae Naturalis Principia Mathematica) ในปี ค.ศ. 1666-1667 ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์..จนถึงปัจจุบัน

ด้วยความสามารถและความดีของนิวตันที่อุทิศตน..เพื่อวงการวิทยาศาสตร์มาอย่างสม่ำเสมอ  สมเด็จพระนางเจ้าแอนน์ (Queen Anne) แห่งอังกฤษได้พระราชทางยศชั้นอัศวิน (Knight) ในตำแหน่งท่านเซอร์ (Sir) แก่นิวตั้นในปี ค.ศ.1705  และในปั้นปลายชีวิต  นิวตันอยู่ในการดูแลของหลานสาว   โดยที่เขาอยู่เป็นโสด..และไม่ได้แต่งงานเลย   กระทั้ง..วันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1727  นิวตันก็ถึงแก่กรรมลงอย่างสงบ  ด้วยอายุ 85 ปี  ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้ยกย่องเกียรติของเขา..โดยนำร่างของเขาไปฝังไว้ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey)

วาทะกรรม : " ถ้าหากว่าข้าฯ  เห็นได้ไกลกว่าใคร  นั่นก็เป็นเพราะข้าฯ ได้อาศัยที่ยืนอยู่บนไหล่ของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย "

Lousis XIV : พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ค.ศ.1638-1751)



Lousis XIV : พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งราชวงศ์บูร์บง (Maison de Bourbon) หรือที่รู้จักกันในพระนามหลุยส์มหาราช (Louis the Great) ในยุคที่ฝรั่งเศสกำลังเจริญรุ่งเรืองจนถึงขีดสุด  โดยพระองค์ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 72 ปี (ค.ศ.1643-1715) นับเป็นกษัตริย์ที่เสวยราชสมบัตินานที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงประสูติเมื่อวันที่ 5 กันยายยน ค.ศ.1638  และทรงเป็นรัชยาทสืบราชบัลลังค์ฝรั่งด้วยวัยเพียง 5 พระชันษา (หลังจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน ค.ศ.1642)  ดังนั้น  พระราชินีแอนน์ (Anne of Austria : 1601-1666) พระมารดาจึงรับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทน  และแต่งตั้งชาวอิตาเลียนชื่อ มาซาริน (Guilio Mazarin) เป็นอัครเสนาบดีใกล้ชิด..ในการปกครองประเทศ  และมาซารินได้นำพาฝรั่งเศสเข้าพัวพันกับสงครามต่อต้านสเปน  ที่ต้องใช้จ่ายเงิน..เพื่อการทำสงครามมากมาย  ดังนั้น  รัฐบาลจึงมีนโยบายให้เพิ่มภาษีอากร  แต่โชคร้ายที่ในปี ค.ศ.1640  ฝรั่งเศสประสบปัญหาด้านกสิกรรม  ชาวนายากจน  อดอยาก  และต้องสูญเสียที่ดิน  จนในที่สุด..จึงเกิดกลุ่มกบฏฟรองด์ (Fronde : 1648-1653) ก่อสงครามกลางเมืองขึ้น  ที่ต่อมาพัฒนาเป็นสงครามชิงอำนาจ..โดยกลุ่มขุนนางปาลมองด์ที่ทะเยอทะยาน  และทำให้พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ต้องหลบหนีออกจากปารีสในฤดูหนาวปี ค.ศ.1648-49 และทรงใช้ชีวิตแบบผู้ถูกเนรเทศในชนบทที่ยากลำบาก  ในช่วงวัย 11-13 พรรษา  ด้วยเหตุนี้  พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 จึงเริ่มสะสมอำนาจและรอเวลา..ที่จะกลับคืนสู่ราชบัลลังค์อีกครั้ง

ในปี ค.ศ.1661 ภายหลังจากมาซารินสิ้นชีวิตลง  พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทรงขึ้นครองราชย์ (ค.ศ.1643-1715) และเนื่องด้วยพระองค์มีบทเรียนมาแล้ว  จากความมักใหญ่ใฝ่สูงของพวกขุนนางทรงศักดิ์  และประชาชนชาวปารีสที่ทรยศ  พระองค์จึงทรงปกครองฝรั่งเศสแบบรวบอำนาจเด็ดขาด  และทำให้ระบบขุนนางอ่อนแอลง โดยการปกครองแบบสมบูรณาสิทธิราชย์ที่ทรงอ้างถึงลัทธิ " เทวสิทธิ์ของกษัตริย์ " (divine-right monarch) ที่คนทั่วๆไปในสมัยนั้นเชื่อกันว่า  กษัตริย์คือผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งโดยพระเจ้า  และพระราชอำนาจของกษัตริย์เป็นอำนาจสูงสุด  ด้วยเหตุนี้  พระมหากษัตริย์จึงมีฐานันดรศักดิ์อยู่เหนือสิ่งใดๆทั้งปวง  นอกจากนี้..พระองค์ยังทรงสร้างพระราชวังแวร์ซาย (Palace of Versailles) ขึ้นเพื่อเป็นที่ทำงานของคณะรัฐบาลของพระองค์และเป็นศูนย์กลางในการปกครอง  โดยทรงย้ายราชสำนักจากพระราชวังลูฟว์ (Louvre Palace) มายังแวร์ซายซึ่งอยู่ห่างจากปารีส 12 ไมล์  ด้วยเพราะทรงไม่ไว้วางใจชาวปารีส

ภาพ  ห้องกระจกในพระราชวังแวร์ซาย

ในด้านการปกครอง เพื่อเป็นการรวบอำนาจเข้ามาอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ให้ได้มากที่สุด  พระเจ้าหลุยส์ที่ 14  ได้ทรงประกาศยกเลิกสิทธิของเมืองต่างๆที่จะเลือกผู้ปกครองท้องถิ่น ในปี 1692  โดยทรงให้มีการประมูลขายตำแหน่งข้าราชการท้องถิ่น  ในส่วนราชสำนัก  พระองค์ทรงปลดพวกขุนนางสูงศักดิ์ออกจากตำแหน่ง..โดยให้ได้รับบำนาญแทน  และทรงป้อนชีวิตที่หรูหรา  ความฟุ่งเฟ้อ  และการมีอภิสิทธิ์ทางสังคม..ให้เหล่าขุนนางจนลุ่มหลง ดังนั้น  โดยภาพรวม..พวกขุนนางชนชั้นสูงอาจดูเหมือนมีความสำคัญ  แต่ในความเป็นจริง..มีอำนาจน้อยมาก  ซึ่งในทางตรงข้าม  พระเจ้าหลุยส์ทรงจ่ายเงินเดือนและแต่งตั้งชนชั้นกลางให้เข้ามาทำงานบริหารส่วนท้องถิ่นแทน..ซึ่งบรรดาข้าหลวงตรวจการเหล่านี้จะขึ้นตรงต่อพระเจ้าหลุยส์เพียงพระองค์เดียว  ด้วยเหตุนี้  พระองค์จึงทรงรวบอำนาจการปกครองไว้ที่พระหัตถ์ได้ยาวนานถึง 72 ปี

นโยบายต่างประเทศ   ในภาคเหนือขณะที่หมู่รัฐเยอรมันอ่อนแอ  และแตกแยกเป็นแคว้นเล็กๆ  พระเจ้าหลุยส์ที่ 14  ทรงมีนโยบายสนับสนุนการแยกตัวของแคว้นต่างๆในรัฐเยอรมนี  เพื่อรักษาพรมแดนทางด้านตะวันออกของฝรั่งเศสให้ปลอดภัย  ในขณะที่..อังกฤษมีความวุ่นวายภายในประเทศ  และดัชท์ก็กำลังทำสงครามกับอังกฤษ  ในทางภาคใต้..สเปนก็กำลังอ่อนแอลง..พระเจ้าหลุยส์จึงทรงอ้างสิทธิ์ (Duchy of Brabant) เพื่อทวงคืนแว่นแคว้นคืนจากสเปน  และทำสงครามจนสามารถยึดฟลานเดอร์ส (Flanders) และฟรอง-กองเต (Franche-Comté) จากสเปนได้  และสามารถบุกตีเนเธอร์แลนด์ได้สำเร็จในปี 1678  ในทางภาคเหนือ  กองทัพที่มีแสงยานุภาพของฝรั่งเศสได้มีชัยชนะเหนือเยอรมนีและอิตาลี  และได้ขยายราชอาณาจักรออกไปกว้างไกลกว่ายุคสมัยใด  และทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นชาติมหาอำนาจทางทหารที่ยิ่งใหญ่ในยุโรป

นโยบายศาสนา พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงเป็นกษัตริย์ที่เคร่งศาสนามาก  และทรงถือว่าประชาชนฝรั่งเศสจะต้องมีศรัทธาอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย  ดังนั้น  พระองค์จึงทรงใช้สิทธิบังคับให้ประชาชนนักถือศาสนาคาทอริกเหมือนพระองค์

นโยบายเศรษฐกิจ  พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงมีเสนาบดีคลังคนสำคัญชื่อ โคลแบรท์ (Jean-Baptiste Colbert) ช่วยในการสร้างระบบการพาชิณนิยมที่เข้มแข็งในฝรั่งเศส  ด้วยการตั้งหอการค้าขึ้น (Council of Commerce) ในปี ค.ศ.1664 และ 1700 เพื่อมีหน้าที่ในการช่วยออกกฎหมายด้านการค้าและควบคุมดูแลการค้าทั่วไป เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ย  ให้ความช่วยเหลือในเรื่องการก่อตั้งบริษัทการค้า  และสนับสนุนการค้าภายในประเทศ  โดยมีคู่แข่งทางการค้าที่สำคัญ คือ ดัทช์ที่ผูกขาดการค้าถึง 3 ใน 4 ของการค้าทั้งหมด  ด้วยกองเรือสินค้าของบริษัทอินเดียตะวันออก (Dutch East India Company) ดังนั้นฝรั่งเศสจึงตั้งบริษัทการค้าทางเหนือ (Company of the North) เพื่อค้าขายในแถบทะเลบอลติก (Baltic Sea) ที่ประสบความสำเร็จในช่วงปี ค.ศ.1675-1684  นอกจากนี้..ยังได้จัดตั้งกองพาณิชย์นาวีเพื่อปกป้องเรือส้นค้าฝรั่งเศสด้วย  โดยบริษัทเหล่านี้ใช้เงินทุนส่วนใหญ่ของรัฐ  ทั้งเงินในส่วนพระมหากษัตริย์  และการร่วมลงทุนจากพวกขุนนางข้าราชการและประชาชน  ซึ่งในตอนแรกได้รับความนิยมจากประชาชนอย่างสูง  แต่ด้วยการบริหารงานของเจ้าหน้าที่รัฐและข้าราชการที่มีความล่าช้ามาก  ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ  มีการคอรับชั่น  และมักมีการแทรกแทรงจากรัฐบ่อยครั้ง  จึงทำให้การค้าหยุดชงักและประสบความล้มเหลวในบั้นปลาย  ในส่วนการค้าภายในประเทศ  ได้มีการตั้งกำแพงภาษี..เพื่อป้องกันสินค้าเข้าจากต่างชาติ  และรัฐยังได้สนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในลักษณะของสมาคมอาชีพ (Guild) โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  และทำหน้าที่ควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม เช่น การทอผ้า  ทำเครื่องแก้ว  ทำกระดาษ  ทำสบู่ และอื่นๆ  จนในที่สุดฝรั่งเศสกลา่ยเป็นศูนย์กลางของสินค้าอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภทในยุโรป  แต่ในด้านเกษตรกรรม..รัฐกลับไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควร

ภาพ  การขยายดินแดนฝรั่งเศส (สีส้ม) ในรัชสมัยของ พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 

แต่ถึงอย่างไร..ก็ดี  ฝรั่งเศสภายใต้รัชสมัยของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ก็มีความเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจอย่างมาก  และขึ้นชื่อในเรื่องความหรูหรา  ฟุ่มเฟือย  โดยเฉพาะชีวิตในราชวังแวร์ซาย  นอกจากนี้..พระเจ้าหลุยส์ยังเป็นผู้อุปถัมภ์ด้านศิลปวรรณกรรม โดยการสนับสนุนสถาบัน The Académie française และอุปถัมภ์นักเขียน เช่น Molière, Racine และ La Fontaine ด้านศิลปะ เช่น Charles Le Brun , Pierre Mignard , Antoine Coysevox และ Hyacinthe Rigaud ด้านดนตรีและคีตกวี เช่น Jean-Baptiste Lully , Jacques Champion de Chambonnières , และ François Couperin ที่ในปี ค.ศ.1661 ได้ก่อตั้ง Académie Royale de Danse และ Académie d'Opéra ในปี 1669  ที่ต่อมา..ได้กลาบเป็นสถาบันที่พัฒนาศิลปะการเต้นบัลเล่ที่สำคัญของโลก เป็นต้น

พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ.1751 ด้วยโรคติดเชื้อเรื้อรัง พระองค์ได้ทรงประกาศก่อนสิ้นพระทัยว่า " ข้าจะไปแล้ว แต่รัฐของข้าจะคงอยู่ตลอดไป " โดยพระองค์ทรงครองราชย์ยาวนานถึง 72 ปี กับ 100 วัน นับเป็นกษัตริย์ที่เสวยราชสมบัตินานที่สุดในประวัติศาสตร์ยุโรป  พระศพของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ถูกฝังไว้ที่ Saint-Denis Basilica นอกกรุงปารีส  ซึ่งในกาลต่อมา..หลุมพระศพของพระองค์ถูกบุกรุกทำลายในช่วงการปฏิวัติฝรั่งเศส

Benedict Spinoza : เบเนดิค สปิโนซ่า (ค.ศ.1632-1667)


Benedict Spinoza : เบเนดิค สปิโนซ่า นักปรัชญาชาวดัชท์  สำนักเหุตผลนิยม (Rationalism) ผู้วางรากฐานสำคัญให้กับยุคแสงสว่างแห่งปัญญา (Age of Enlightenment : 1650-1700) ของยุโรป  และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักคิดทางจริยศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกนี้

เบเนดิค สปิโนซ่า เกิดวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ.1632 ในอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) จากครอบครัวชาวยิวจากโปรตุเกส..ที่ย้ายถิ่นฐานมาตั้งรกรากอยู่ในฮอลแลนด์ สปิโนซ่าเป็นบุตรคนที่ 3 ของมิเกล สปิโนซา ผู้เป็นพ่อค้าชนชั้นกลางและเป็นผู้ดูแลธรรมศาลาและโรงเรียนชาวยิวในกรุงอัมสเตอร์ดัม  มารดา Ana Débora เสียชีวิตตอนสปิโนซ่าอายุ 6 ขวบ  และพี่ชายเสียตอนเขาอายุ 17 ปี  ต่อมาในปี 1654 บิดากับพี่สาวของเขาก็มาตายจากไปอีก..ในตอนที่เขาอายุ 20 ต้นๆ  จึงทำให้สปิโนซ่ากลายเป็นเด็กกำพร้าและมีชีวิตที่ค่อนข้างยากลำบาก  แต่กระนั้น..เขาก็ได้รับการศีกษาในโรงเรียนของชุมชนชาวยิวในกรุงอัมสเตอร์ดัม (the Talmud Torah congregation of Amsterdam ) และสปิโนซ่าได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในด้านภาษา..อย่างเชี่ยวชาญ  ทั้งภาษาสเปน โปรตุเกส ดัตช์ ละติน กรีกและเยอรมัน  และเขาเริ่มมีความสนใจศึกษาในปรัชญาสมัยใหม่ของ Descartes เมื่อเข้าร่วมในกลุ่มคอลเลเจียนท์ (Collegiants) ซึ่งเป็นสมาคมของผู้มีเสรีทางศาสนา..ที่ต้องการปฏิรูปศาสนาในฮอลแลนด์  โดยในช่วงเวลา..นี้เอง  ที่เขาได้เริ่มเขียนหนังสือทางปรัชญาและศาสนา เช่น " หลักลัทธิเดสการ์ตส์ " (Principles of Cartesianism : 1663)  ศาสตร์นิพนธ์โดยสังเขปว่าด้วยเรื่องพระเป็นเจ้า มนุษย์และความผาสุกของเขา (Short Treatise on God, Man and His Well-Being) และเขียนบรรพแรกของหนังสือ " จริยศาสตร์ " (Ethics) ที่โด่งดัง  ต่อมา.. ในปี ค.ศ. 1656 สปิโนซ่าก็ถูกขับไล่ออกจากชุมชนชาวยิวในอัมสเตอร์ดัม  ด้วยข้อกล่าวหาว่าเป็น " อเทวนิยม " และมีคำสั่งห้าม " ไม่ให้คนในชุมชนคบหาสมคมกับสปิโนซ่า ไม่ว่าจะด้วยคำพูด  ด้วยการเขียน  หรือการแสดงไมตรีจิตต่อเขา  และไม่ควรอยู่ภายใต้ชายคาเดียวกับเขาด้วย "  ซึ่งสปิโนซ่าก็ได้แยกตัวออกจากชุมชนไปอย่างสงบ  และเปลี่ยนชื่อเป็นชาวคริสต์ว่า " เบเนดิคต์ สปิโนซ่า "

ภาพ ปกหนังสือ " จริยศาสตร์ " (Ethics) ของสปิโนซ่ในปี 1675

ต่อมา..ในปี 1670 สปิโนซ่าย้ายไปอยู่แถวชานกรุงเฮก (Hague) และประกอบอาชีพเป็นช่างฝนเลนส์ ในปี 1673 เขาได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก (University of Heidelberg) แต่สปิโนซ่าไม่ยอมรับ..เพราะเห็นว่าการเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยนั้น..เป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด  ในปี ค.ศ.1670 สปิโนซ่าได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานเขียนแบบนิรนามเรื่อง ศาสตร์นิพนธ์เกี่ยวกับเทววิทยาการเมือง (Treatise on Religious and Political Philosophy : 1670) และได้เขียนจดหมาย..โต้ตอบกับนักวิทยาศาสตร์และนักปรัชญาที่มีชื่อเสียงหลายๆคน เช่น เฮนรีย์ โอลเดนเบิร์ก (นักปรัชญาธรรมชาติชาวเยอรมัน) และ กอทท์ฟรีด วิลเฮล์ม ไลบ์นิซ (นักปรัชญาและนักคณิตศาสตร์ผู้พัฒนาทฤษฏีแคลคูลัส) ซึ่งเดินทางมาเยี่ยมเยียนสปิโนซาในปี ค.ศ.1676  และในผลงานเขียนสำคัญที่คนทั่วไปรู้จักสปิโนซ่า คือ " จริยศาสตร์ " (Ethicsซึ่งเขาเขียนเสร็จสมบูรณ์ในระหว่างปี 1670-75 โดยหนังสือนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่หลังการมรณกรรมของเขา  ซึ่งหนังสือ Ethics ได้นำเสนอหลักจริยศาสตร์ในเชิงเลขาคณิต  และการใช้เหตุผลแบบนิรนัย  ซึ่งแบ่งเป็น 5 ภาค คือ 1.ว่าด้วยเรื่องพระเป็นเจ้า 2.ว่าด้วยเรื่องธรรมชาติและต้นกำเนิดของจิต 3.ว่าด้วยเรื่องต้นกำเนิดและธรรมชาติของอาเวค 4.ว่าด้วยเรื่องพันธนาการของมนุษย์ และ 5.ว่าด้วยเรื่องอานุภาพของอัชฌัตติกญาณ (Intuitive Knowledge) เป็นต้น  โดยทั้งหมดนี้..สปิโนซ่าเริ่มต้นจากแนวความคิดทางอภิปรัชญาแบบเอกนิยมเชิงพหู (pluralistic monism) ที่อธิบายด้วยวิธีการให้นิยาม (definition) ของสิ่งที่เห็นแจ้ง (postulate) ซึ่งมีลักษณะที่ชัดแจ้งและเป็นจริงเสมอ  โดยเขาเรียกสิ่งที่เห็นแจ้งเหล่านี้ว่า " สาร " (substance) และเขาได้ให้คำนิยามของ " สาร " ว่าเป็นสิ่งที่มีอยู่โดยตัวของมันเอง และเป็นสาเหตุของตัวเอง (cause itself)  โดยเราสามารถคิดและเข้าใจมันได้..จากสารัตถะตัวของเอง (essence itself) โดยไม่ต้องผ่านสิ่งอื่นใด (By substance, I mean that which is in itself, and is conceived through itself) นอกจากนี้..สารยังเป็นสิ่งที่ไม่มีขอบเขต (infinite) ซึ่งย่อมจะมีมาก่อนสิ่งที่มีของเขต (finite) ทั้งหลาย  และเป็นสาเหตุของตัวเอง (self-caused) คือไม่ต้องอาศัยสาเหตุอื่น  ดังนั้น  มันจึงมีเสรีภาพ  และสารนี้มีอยู่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ก็คือ " พระเจ้า " (God) ซึ่งเป็นนิรันดร์  โดยสิ้งทั้งหลายล้วนเป็นส่วนของพระเจ้า (modification) และเชื่อมสัมพันธ์กันโดยพระเจ้า  ด้วยเหตุนี้  พระเจ้าและโลกจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  


ภาพ ปกหนังสือ เทววิทยาการเมือง (Treatise on Religious and Political Philosophy : 1670)

แต่กระนั้น..พระเจ้าของสปิโนซ่าไม่เหมือนกับพระเจ้าในศาสนาทั่วๆไป  เพราะเขามองสรรพสิ่งจากมุมมองทางคณิตศาสตร์  หรืออีกนัยหนึ่งคือการมอง..พระเจ้าในฐานะเป็นสิ่งธรรมชาติที่จำเป็นต้องมีอยู่..ซึ่งเป็นสารัตถะ (essence) ของทุกสิ่งในโลกนี้  ดังนั้น  คำสอนในทำนองนี้..จึงจัดเป็นแนวคิดแบบสรรพเทวนิยม (Pantheism)

และในฐานะนักเหตุผลนิยม สปิโนซ่าได้กล่าวถึง..เรื่องชีวิตไว้ว่า " ชีวิตที่ดี คือ ชีวิตที่มีอิสรภาพและดำเนินไปตามหลักของเหตุผล  และถ้าเรามีเหตุผล..โดยไม่ได้เรียกร้องสิ่งใดที่ผิดหรือมากไปกว่าธรรมชาติแล้ว  คนเราก็จะรักตัวเองและแสวงหาสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ดังนั้น ' ชีวิตอิสระคือชีวิตที่มีเหตุผลและเหตุผล ก็คือ พิชานร่วมกันกับผู้อื่น ' ด้วยเหตุนี้  คำว่า ' เหตุผล ' จึงคือการแลกเปลี่ยนทางความคิดของคนในสังคม  หาข้อผิดถูกร่วมกัน  แล้วตัดสินใจทำตามเหตุผลที่สังคมยอมรับนั้น  ซึ่งการกระทำเช่นนี้..ถือเป็นความดี..อันเป็นความดีของคนทั่วไป  เพราะได้รับเอาความคิดของทุกคนมาปฏิบัติร่วมกัน " สปิโนซ่าได้ใช้ชีวิตอย่างสมถะและทุ่มเทให้กับการเขียนนิพนธ์ทางปรัชญามาโดยตลอด  กระทั้งมรรณกรรมในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1677 ด้วยวัย 45 ปี ที่กรุงเฮก ประเทศฮอลแลนด์

John Locke : จอห์น ล็อค (ค.ศ.1632-1704)


John Locke : จอห์น ล็อค  นักปรัชญาการเมืองชาวอังกฤษ ในศตวรรษที่ 17 ผู้วางรากฐานที่สำคัญให้กับการเมืองการปกครองสมัยใหม่  เขาได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิชารัฐศาสตร์ (Father of  Modern Political) ผู้สร้างคลื่นแห่งการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ (Glorious Revolution) ขึ้นในยุโรป  ซึ่งแนวความคิดทางการเมืองของเขาได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย..ทั้งโดยมองเตสกิเออ (Montesquieu)  รุสโซ (Rousseau) รวมทั้ง เดอ ท็อกวิลล์ (De Tocqueville : นักวิทยาศาสตร์การเมือง) และนักคิดร่วมสมัยในฝรั่งเศสที่ใช้ทฤษฏีของล็อคในการวิเคราะห์ระบอบเก่า (ancient regime) ที่นำมาซึ่งการปฏิวัติฝรั่งเศส (ค.ศ.1789-1799)  และในสหรัฐอเมริกา..ก็ใช้รูปแบบการปกครองที่ตั้งอยู่บนพื้นฐาน..ทฤษฏีการเมืองการปกครองของล็อคเช่นกัน

จอห์น ล็อค เกิดวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ.1632  ในครอบครัวเพียวริแตน (Puritans) ที่หมู่บ้าน Wrington เขตซัมเมอร์เซสท์  ประเทศอังกฤษ  ในช่วงระหว่างสงครามกลางเมืองในสมัยครอมเวลล์  บิดาเป็นทหารยศร้อยเอกของกองกำลังฝ่ายรัฐสภาที่กำลังต่อสู่อยู่กับฝ่ายรัฐบาลของพระเจ้าชาร์ลที่ 1 และเมื่อล็อคอายุ 15 ปี ในปี 1647 เขาได้เข้าศึกษาในโรงเรียนเวสมินสเตอร์ (Westminster) ที่ลอนดอน  ซึ่งได้ศึกษาในวิชาคลาสสิค (Classics) และวิชาวิทยาศาตร์  ต่อมาเมื่ออายุ 20 ปี เขาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย Christ Church Oxford ในปี ค.ศ.1652  ซึ่งล็อคไม่สู้จะพอใจในระบบการศึกษาที่อ๊อกฟอร์ดเท่าใดนัก  แต่เขากลับสนใจในแนวคิดและงานเขียนของ เรเน่ เดส์คารต์ส (Rene Descartes) มากกว่า  แต่กระนั้น..ล็อคก็เรียนเล่าเรียนจนระดับปริญญาตรี ในปี 1655  และล็อคยังจบปริญญาในทางแพทย์ (bachelor of medicine) ในปี 1675 อีกด้วย  ต่อมา..เขาได้รับเชิญให้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมราชบัณฑิตแห่งลอนดอน (The Royal Society of London) ซึ่งทำให้ล็อกมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงหลายๆคน เช่น โรเบิร์ต บอยล์, โทมัส วิลลิส, และโรเบิร์ต ฮุค เป็นต้น นอกจากนี้..ล็อคยังได้รับเลือกให้เป็นอาจารย์สอนวิชากรีกวิทยาที่ไครสต์ เชิชด้วย

ภาพ ต้นฉบับหนังสือ An Essay Concerning Human Understanding ในนปี 1690

ต่อมา..เมื่ออังกฤษได้กลับสู้ระบอบกษัตริย์ (King Charles II : 1630-1685) อีกครั้ง  ล็อคก็มีโอกาสก็ได้รู้จักกับ ลอร์ด แอชลี่ (Lord Ashley) ที่ต่อมาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเอิร์ลแห่งชาร์ฟส์เบอรี่ (Earl of Shaftesbury) ซึ่งล็อกได้กลายเป็นทั้งเพื่อนสนิทและแพทย์ประจำตัวของลอร์ด แอชลี่  แต่ต่อมา..ลอร์ด แอชลี่มีความขัดแย้งกับกษัตริย์..ในเรื่องนโยบาบผ่อนปรน..ข้อขัดแย้งทางศาสนา  เป็นผลให้ลอร์ด แอชลี่ถูกจับคุมขังหลายครั้ง..ในข้อหาคบคิดกบฏ  จนต้องหลบหนีไปจากอังกฤษ  และก่อให้เกิดผลร้ายกับ.. ล็อคที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับลอร์ด แอชลี่ ดังนั้น ล็อคจึงถูกราชสำนักเพ่งเล็งและสงสัยว่าเป็นผู้สมคบคิดกบฏด้วย  จนทำให้เขาถูกไล่ออกจากไครสต์ เชิชและอ็อกฟอร์ด  และต้องลี้ภัยไปอยู่ฮอลแลนด์นานถึง 6 ปี  ซึ่งในช่วงเวลานี้เอง..ที่ล็อคได้เขียนผลงานชิ้นเอกอุสองเล่ม..ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเสมือนหลักไมล์ของยุคแสงสว่างแห่งปัญญา (Enligtenment) ในยุโรป  นั้นคือ  หนังสือที่ว่าด้วยเรื่องการปกครอง Two Treatises on Govemment (1689) โดยล็อคเสนอว่า..แม้รัฐบาลจะได้สิทธิอำนาจ (Authority) มาจากความเห็นชอบของประชาชน  แต่ประชาชนก็มีสิทธิ์ที่จะโค่นล้มรัฐบาล..ที่ทำลายสิทธิพื้นฐานของพวกเขาได้..  อย่างเช่น  สิทธิเสรีภาพในการนับถือศาสนา เป็นต้น  ซึ่งหนังสือเล่มนี้..มีอิทธิพลอย่างมาก..ทั้งในอเมริกาและฝรั่งเศส..ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงการปฏิวัติประชาธิปไตย  และในปี 1690  เขาได้เขียนบทเรียงความเกี่ยวกับความเข้าใจของมนุษย์ (An Essay Concerning Human Understanding) ที่เป็นแนวคิดทาง..ปรัชญาแบบประจักษ์นิยม โดยเขาเสนอว่า.. " ประสบการณ์เป็นแหล่งที่มาของความรู้  และมนุษย์เราไม่สามารถมีความรู้ไกลเกินไปกว่าความคิดของเราที่ได้มาจากประสบการณ์ " เป็นต้น

ในปี ค.ศ.1688 จอห์น ล็อคได้เดินทางกลับอังกฤษ  และพำนักอยู่ที่หมู่บนชนบทใน Essex  และได้รับตำแหน่งเป็นค้าหลวงการค้า (Commissioner of Trade)  ซึ่งเขาได้รับราชการอยู่จนกระทั้งปี ค.ศ.1700 ก็ลาออก เนื่องจากป่วยด้วยโรคหอบหืด (asthma) และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ.1704

วาทะกรรม " ความคิดใหม่มักเป็นที่สงสัย  และถูกคัดค้านอยู่เสมอ  โดยไม่มีเหตุผลอื่นใด  เนื่องจากเพราะว่ามันยังไม่ใช่ความคิดที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย "

Anton Van Leeuwenhoeh : ลีเวนฮุ๊ค (ค.ศ.1632-1723)


Anton Van Leeuwenhoeh : ลีเวนฮุ๊ค  นักชีววิทยาชาวดัชท์  ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น " บิดาแห่งจุลชีววิทยาการ " (the Father of Microbiology) และปูพื้นฐานให้กับการศึกษาวิชาชีววิทยาและการแพทย์สมัยใหม่  ในศตวรรษที่ 17

ลีเวนฮุ๊ค เกิดวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1632  ในเมืองเดลฟ์ (Delft) เนเธอร์แลนด์  บิดา Philips Antonisz van Leeuwenhoek  เป็นช่างสานตะกร้าที่ยากจน..ซึ่งเสียชีวิตอย่างกระทันหัน  เมื่อลีเวนฮุ๊คอายุได้เพียง 5 ขวบ  เขาจึงต้องอาศัยอยูกับพี่สาว 4 คนและมารดา Margaretha ที่แต่งงานใหม่กับจิตกร Jacob Jansz Molijn  และเมื่อลีเวนฮุ๊คอายุ 10 ปี  เขาถูกส่งไปเข้าเรียนที่โรงเรียน Warmond ในช่วงเวลาสั้น  และพออายุ 16 ปี เขาต้องย้ายไปอยู่กับลุงที่เป็นทนายความ  และกลายเป็นเด็กฝึกงานบัญชีที่ร้านขายผ้าลินิลในกรุงอัมสเตอร์ดัม

ในปี ค.ศ.1654-50 หลังจากลีเวนฮุ๊คแต่งงาน  เขาได้เปิดร้านผักในบ้านเกิด  กระทั้งในปี 1660 และสถานะของลีเวนฮุ๊คก็เริ่มดีขึ้น..และมีตำแหน่งเป็น chamberlain และนายอำเภอประจำเมืองเดลฟ์  ในปี 1669 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าหน้าที่รังวัด (surveyor) โดยศาลเนเธอร์แลนด์  และทำงานในเทศบาลดูแลเรื่องการนำเข้าไวน์และการจัดเก็บภาษีด้วย


ภาพ  กล้อง (leeuwenhoek microscope) ของลีเวนฮุ๊ค ค.ศ.1673

ผลงานสำคัญ : ในขณะที่ลีเวนฮุ๊คทำงานในร้านขายผัก  เขาเริ่มมีความสนใจในเรื่องเลนส์ (lensmaking) ที่ใช้ในกลุ้องจุลทรรศน์  เขาจึงเริ่มศึกษาและพัฒนาเรื่องการฝนเลนส์ประสิทธิภาพสูง  โดยได้ทำเลนส์มากกว่า 500 เลนส์  และทดลองสร้างกล้องจุลทรรศน์ถึง 25 ตัว  กระทั้ง..สามารถประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ (leeuwenhoek microscope) ซึ่งมีกำลังขยายสูงถึง 270 เท่าได้สำเร็จ  และได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานในวรสาร Royal Society of London ในปี ค.ศ.1673  ซึ่งทำให้..ลีเวนฮุ๊คเป็นมนุษย์คนแรกที่มองเห็นจุลินทรีย์สัตว์เซลล์เดียว  นอกจากนี้..เขายังได้ใช้กล้องจุลทรรศน์ที่ประดิษฐ์ขึ้น..ในการศึกษาและเขียนรายงานเกี่ยวกับแบคทีเรีย, เชื้อรา, เส้นโลหิตฝอยในคนและสัตว์, วิวัฒนาการของมด, ตลอดจนเรื่องของพืชและสัตว์นานาชนิด..ที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าส่งให้  Royal Society of  London จนได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาของวิชาจุลชีววิทยายุคใหม่  ซึ่งงานของลีเวนฮุ๊คได้สร้างคุณูปราการต่อวงการแพทย์และวิทยาศาสตร์อย่างมากมาย  ซึ่งตลอดทั้งชีวิต..ลีเวนฮุ๊คได้ทำงานด้านจุลชีววิทยาเรื่อยมา..กระทั้ง..มรรณกรรมลงในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1723 เมื่ออายุ 90 ปี  และร่างของเขาถูกนำไปฝังไว้ที่ the Oude Kerk (Delft) 

Robert Boyle : โรเบิร์ต บอยส์ (ค.ศ.1627-1691)



Robert Boyle : โรเบิร์ต บอยส์ นักวิทยาศาสตร์  นักเคมีและนักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ  ผู้เป็นบิดาของวิชาเคมีสมัยใหม่  โดยเขาได้คัดค้านทฤษฏีธาตุทั้ง 4 (ดิน,น้ำ,ลม,ไฟ) ของอริสโตเติล  และบอยส์เป็นผู้ให้คำจำกัดความว่า " ธาตุ " คือสสารที่ไม่สามารถแยกหรือทำลายให้เปลี่ยนแปลงไปได้  ซึ่งใช้กันต่อมาหลายร้อยปี  (ในปัจจุบันธาตุต่างๆสามารถถูกทำลายได้ในห้องทดลองปรมาณู)

โรเบิร์ต บอยส์ เกิดวันที่ 26 มกราคม ค.ศ.1627 ที่เมือง Munster ประเทศไอร์แลนด์ เขาเป็นบุตรคนที่ 10 ของท่านเอิร์ลแห่งคอร์ค (Earl of Cork) ผู้มั่งคั่ง  ซึ่งบอยส์ส่อแววเป็นอัจฉริยะ..ตั้งแต่ในวัยเยาว์  และเมื่อบอยส์อายุได้ 8 ขวบ  บิดาได้ส่งให้เขาไปเรียนหนังสือที่อิตัน (Eton) ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของอังกฤษ  ที่อินตันเขาได้ศึกษาภาษาละติน  ฝรั่งเศส  ต่อมา..ได้เรียนภาษาฮิบรูและกรีกด้วย  และเนื่องด้วย..บอยส์เกิดมาในครอบครัวขุนนางที่ร่ำรวย  เขาจึงไม่ต้องกังวลในเรื่องเงินทองใดๆ  ซึ่งทำให้เขาเล่าเรียนได้ดีในอันดับต้นๆ..และเป็นที่รักของครูบาอาจารย์  และสามารถศึกษาหาความรู้จากคัมภีร์ต่างๆที่เป็นภาษาดั่งเดิมได้อย่างลึกซึ้ง..มากกว่าคนอื่นๆ  บอยส์เรียนอยู่ที่โรงเรียนอินตัน 3 ปี  บิดาก็ส่งเขาไปท่องเที่ยวยุโรป  เพื่อศึกษาหาความรู้ใหม่ๆ (เป็นวิธีที่ผู้ดีชาวอังกฤษนิยมทำกันในสมัยนั้น) ที่สวิตเซอร์แลนด์  บอยส์ได้เรียนตรรกวิทยาและคณิตศาสตร์  และในปี ค.ศ.1641 เมื่ออายุ 14 ปี  เขาได้เดินทางไปอิตาลีและได้มีโอกาสอ่านตำราวิทยาศาสตร์ที่กาลิเลโอเขียนไว้  ซึ่งบอยส์สนใจและชอบมาก..จึงทำให้เขาตัดสินใจว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ไปจนตลอดชีวิต

ภาพ  หนังสือ The Sceptical Chymist ในปี ค.ศ.1661

ในปี ค.ศ.1644 บอยส์เดินทางกลังอังกฤษ  และพบว่าบิดาถึงแก่กรรมเสียแล้ว  และได้ทิ้งมรดกไว้ให้เขามากมาย  เขาจึงกลับไปเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ด (Oxford) โดยเลือกเรียนในทางวิทยาศาสตร์  และที่อ๊อกซ์ฟอร์ดนี้..เขาได้พบเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน..ที่มีความเฉลียวฉลาดหลายๆคน  ที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม " Invisible College " และบอยส์ก็เป็นสมาชิกของกลุ่มนี้ด้วย  ซึ่งล้วนเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดทั้งนั้น  และในปี ค.ศ.1660  พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ (Charles II of England) ได้มีพระบรมราชานุญาตให้เหล่าปราชญ์จากอ๊อกซ์ฟอร์ด..เข้าเฝ้าและทรงพระราชทานนามกลุ่มนี้ใหม่..เป็นสมาคมราชบัณฑิตแห่งลอนดอน (The Royal Society of London)  และในปี ค.ศ.1661 บอยล์ได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์เล่มหนึ่งชื่อ The Sceptical Chymist เพื่อโต้แย้งในทฤษฏีของอริสโตเติล..ที่กล่าวว่าโลกนี้ประกอบด้วยธาตุ 4 อย่าง คือ ดิน,น้ำ,ลม,ไฟ เท่านั้น แต่บอยล์กล่าวว่า " เราต้องเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้องไม่หลงเชื่องมงาย  จะต้องมีการทดลองค้นคว้าเสียก่อนว่าสิ่งที่ได้ชื่อว่าธาตุเหล่านั้น..มีเนื้อเดียวหรือเรียกว่าสารเชิงเดี่ยวหรือไม่..โดยสารชนิดนี้จะต้องไม่มีเนื้อสารอื่นๆปนอยู่ด้วยเลย "  ซึ่งบอยล์ได้ศึกษาโครงสร้างของผลึก..ด้วยวิธีทดสอบทางวิทยาศาสตร์..อันเป็นแนวทางในการพัฒนาวิชาเคมีสมัยใหม่  ที่ต่อมานักวิทยาศาสตร์รุ่นหลังที่เชื่อถือตามคำแนะนำของบอยส์ได้ทำการทดลองค้นคว้า..จนในปัจจุบันได้ค้นพบธาตุต่างๆในโลกนี้มากกว่า 103 ชนิดแล้ว

ในปี ค.ศ.1660 บอยล์ได้ทราบข่าว..เกี่ยวกับการทดลองเรื่องความกดดันของอากาศจากนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันที่ชื่อ ออตโต ฟอน เกริคเก (Otto von Guericke) ที่ทำให้บอยล์มีความสนใจมาก  เขาจึงได้ร่วมมือกับโรเบิร์ต ฮุค (Robert Hooke) ทำการทดลองเกี่ยวกับเรื่องความดันของอากาศและก๊าซต่างๆ จนทำให้ค้นพบกฏที่เรียกกันว่า " กฏของบอยส์ " (Boyle's Law) ที่กล่าวว่า " ปริมาตรของก๊าซจะเป็นสัดส่วนกลับกันกับความดัน ' หมายความว่า ' ถ้าเพิ่มความดันขึ้น 2 เท่า  ปริมาตรของอากาศจะลดลง 2 เท่า เช่นกัน " โดยกฎนี้สามารถสรุปสูตรได้ว่า " The volume of a gas in inversely Proportional of The Pressure " หมายถึง " ผลคูณของความดันกับปริมาตรของก๊าซจะมีค่าคงที่ "และกฎของบอยส์นี้..เป็นที่ยกย่องและเชื่อถือกันมากในทางฟิสิกส์มาหลายทศวรรษ  จนต่อมา..จาคส์ ชาร์ลส์ (Jacques Charles)  ได้ทำการทดลองตามแบบของบอยส์และได้ค้นพบว่ากฎของบอยส์นั้นจะเป็นจริงได้..ต่อเมื่ออุณหภูมิไม่เปลี่ยนแปลง  จึงได้เพิ่มต่อข้อความในกฎของบอยส์อีกว่า " The volume of a gas in inversely Proportional of The Pressure ' providing the temperature does not change "

นอกจากนี้  บอยส์ยังได้ทำการทดลองและค้นพบว่า..อ๊อกซิเจนนั้นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเผาไหม้  การหายใจของมนุษย์  และการส่งผ่านเสียงอีกด้วย  ตลอดชีวิตโรเบิร์ต บอยส์ได้คลุกคลี..อยู่กับงานวิทยาศาสตร์ตลอดเวลา  จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ.1691 ณ กรุงลอนดอน

ติดตามผ่าน FACEBOOK

Video Of Week : เส้นทางนักบุกเบิก สตีฟ จ๊อบส์

Live Currency Cross Rates


The Forex Quotes are powered by Investing.com.

ไขปริศนาคดีฆาตกรต่อเนื่องโดย นักฆ่าโซดิแอค

โพสต์แนะนำ

Anton Van Leeuwenhoeh : ลีเวนฮุ๊ค (ค.ศ.1632-1723)

Anton Van Leeuwenhoeh : ลีเวนฮุ๊ค  นักชีววิทยาชาวดัชท์  ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น " บิดาแห่งจุลชีววิทยาการ " ( the Father of M...

บทความที่ได้รับความนิยม

Kategori

สนับสนุนเว็บไซด์

หนังคาวบอยดี.. ดูฟรี ออนไลน์

Kategori