คุณรู้ไหมว่า...ใครเป็นใคร..? บนโลกใบนี้

คุณรู้ไหมว่า...ใครเป็นใคร..? บนโลกใบนี้

Jethro Tull : เจโทรทูล (ค.ศ.1674-1741)


Jethro Tull : เจโทร ทูล นักการเกษตรชาวอังกฤษ  ผู้บุกเบิกการเกษตรกรรมสมัยใหม่  ด้วยการเพาะปลูกแบบหยอดพันธ์ุพืชตามแนวร่องให้ห่างกันแทนการหว่านแบบเก่า  โดยเขาได้ประดิษฐเครื่องไถดินนำร่องและขุดหลุมหยอดเมล็ด..ด้วยใช้ม้าเทียมลาก..ซึ่งเป็นการพัฒนาการเพาะปลูกธัญพืชให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น  ที่ช่วยสนับสนุนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ในศควรรษที่ 17

เจโทร ทูล เกิดปี ค.ศ. 1674 ที่ Basildon เบิร์กเชียร์ (Berkshire) ประเทศอังกฤษ ในครอบครัวเจ้าของที่ดินที่ร่ำรวย และในวัย 17 ปี เขาได้เข้าเรียนวิชากฎหมายที่มหาวิทยาลัยอ๊อซฟอร์ด (St John's College, Oxford) และจบศึกษาในระดับปริญญาตรี ในปี 1699  และเป็นสมาชิกของ Staple Inn ในกรุงลอนดอน ซึ่งได้รับอนุญาตให้ว่าความ..ในศาลได้..โดยสมาคมวิชาชีพทนายความและผู้พิพากษา (The Honourable Society of Gray's Inn : ) ในปี 1693 แต่กระนั้น..เจโทร ทูลก็ไม่เคยมีประสบการณ์ในด้านกฎหมายเลย  แต่เขากลับสนใจในด้านเกษตรกรรมมากกว่า  และหลังจาก..เขาแต่งงานกับ Susanna Smith แล้ว เขาก็ย้ายไปอยู่ที่ฟาร์มของบิดาของเขาที่ Howberry และเริ่มทำการเกษตรตั้งแต่ปี 1700 เรื่อยมา

นับจากวัยเด็กเรื่อยมา..  เจโทร ทูลมีสุขภาพที่ไม่ค่อยแข็งแรงนัก..และป่วยด้วยอาการผิดปกติของปอด (Pulmonology)  ซึ่งทำให้เขาต้องเดินทางไปยุโรป (ในช่วงปี 1693) เพื่อแสวงการรักษาทางการแพทย์ใหม่ๆ  (ช่วงต้นยุคแสงสว่างทางปัญญา Age of Enlightenment) ซึ่งในช่วงเวลานี้เอง.. ที่ทูลได้มีโอกาสได้ศึกษาในเรื่องวิทยาการเพาะปลูกใหม่ๆ..ทั้งการปลูกข้าวและธัญพืชต่างๆในฝรั่งเศสและอิตาลี  ที่ในเวลาต่อมา..ได้ช่วยพัฒนาแนวคิดใหม่ในด้านการเกษตรกรรมของเขา และในช่วงปี 1730-1740  เมื่อเขาเดินทางกลับอังกฤษ  ทูลก็เริ่มเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเพาะปลูกแนวใหม่..ที่เขาค้นพบ เช่นหนังสือชื่อ The new horse-houghing husbandry : 1731 ที่อธิบายถึงหลักการของการเตรียมดินและการปลูกธัญพืชโดยเว้นระยะห่าง..เพื่อการเพิ่มผลผลิต และเขียนในภาคปฏิบัติ ชื่อ A supplement to the essay on horse-hoing husbandry : 1736  เป็นต้น  นอกจากนี้..เขายังได้ประดิษฐ์เครื่องทุนแรงในการไถดินนำร่อง..และขุดหลุมหยอดเมล็ดพืช (seed drill) ที่เทียมด้วยม้า (อันเป็นเครื่องจักรทางการเกษตรเครื่องแรกๆของโลก) ซึ่งเจโทร ทูล ได้ทดลองใช้เครื่องจักรนี้..ในฟาร์มของเขา..เช่นการปลูกองุ่น  ปลูกข้าวและข้าวโพด  และทำให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากมาย  จนธุรกิจฟาร์มของเจโทร ทูล มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก  และทำให้เขากลายเป็นนักวิทยาศาสตร์การเกษตรที่มีชื่อเสียง..อีกด้วย

ภาพ  เครื่องไถดินนำร่องและขุดหลุมหยอดเมล็ดพืช (seed drill) ที่เทียมด้วยม้าของ เจโทร ทูล

แต่กระนั้น..แนวคิดเรื่องการเพาะปลูกแนวใหม่ของเขาก็ไม่ได้รับการยอมรับจนกว่าร้อยปีต่อมา เพราะเป็นสิ่งใหม่และยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง  เช่น  ทูลไม่ค่อยให้ความสำคัญในเรื่องการใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์มากนัก (ซึ่งเขาเห็นว่าไม่มีความจำเป็น)  และข้อเสีย..ในการปลูกพืชระยะห่าง..ที่ทำให้มีหญ้าศัตรูพืชขึ้นแทรกซ้อนและจำเป็นต้องมีการไถคราดอยู่เสมอ เป็นต้น   แต่ในภายหลัง..ได้มีผู้นำแนวคิดของเจโทร ทูลเรื่องการปลูกธัญพืชโดยเว้นระยะห่าง..และการไถพรวนดิน..เพื่อเตรียมพื้นที่ก่อนเพาะปลูก..มาใช้อย่างได้ผล  และแพร่หลายไปทั่วโลก

เจโทร ทูล เสียชีวิตอย่างสงบ..ในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1741 ด้วยวัย 67 ปี  โดยร่างของเขาถูกฝังอยู่ในสุสานของโบสถ์ St Bartholomew's Church เบิร์กเชียร์ใกล้กับบ้านเกิดของเขา

Peter The Great หรือ Peter I : พระเจ้าปีเตอร์มหาราช (ค.ศ.1672-1725)


Peter The Great หรือ Peter I : พระเจ้าปีเตอร์มหาราช  ซาร์แห่งรัสเซีย (ค.ศ.1682-1721) ผู้นำขนบธรรมเนียนและแนวคิดแบบยุโรปตะวันตก..เข้ามาปรับปรุงและสร้างจักรวรรดิรัสเซียให้ทันสมัยและมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมาก  กระทั้ง..ประเทศรัสเซียกลายเป็นชาติมหาอำนาจในยุโรป

พระเจ้าปีเตอร์มหาราช หรือ  พระนามเดิม  ปีเตอร์ อเล็กเซเยวิช โรมานอฟ  ทรงพระราชสมภพวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ.1672 เป็นโอรสของพระเจ้าซาร์อเล็กซิสที่ 1 กับ ซารีนา นาตัลยา นารีสกีนา (พระมเหสีองค์ที่ 2 ระหว่างปี 1671-1676) และด้วยเพราะ..ซาร์ปีเตอร์ทรงเป็นโอรสองค์ที่ 2 จึงไม่ได้ทรงมีฐานะเป็นซาเรวิชหรือองค์รัชทายาท  กระทั้ง..เมื่อของพระบิดาพระเจ้าซาร์อเล็กซิสที่ 1  ทรงสวรรคตในปี 1676  พระเชษฐาต่างมารดา (บุตรของพระมเหสีองค์แรก " มาเรีย มิโลสลาฟสกี้ " 1648-1669)  ที่มีพระนามว่า " เฟโอดอร์ " จึงเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแทน.. โดยใช้ฉลองพระนามว่า " พระเจ้าซาร์เฟโอดอร์ที่ 2 "  (ในตอนนั้น..ซาร์ปีเตอร์ทรงมีพระชนมายุเพียง 4 ปี)  ต่อมา..เมื่อซาร์เฟโอดอร์ที่ 2 สวรรคตในเดือนมิถุนายน 1682  โดยไม่มีรัชทายาท  จึงเกิดการช่วงชิงอำนาจกันในราชสำนักระหว่างสองตระกูล คือ มิโลลาฟสกี้ : Miloslavsky (ฝ่ายมเหสีองค์ที่ 1) กับตระกูล นารีสกีนา : Naryshkina (ฝ่ายมเหสีองค์ที่ 2) ซึ่งเป็นไปอย่างนองเลือด  สุดท้าย..จึงมีประกาศให้ตั้งอิวานที่ 5 (Ivan V) จากตระกูลมิโลลาฟสกี้เป็นซาร์ผู้พี่  และตั้งพระเจ้าปีเตอร์เป็นซาร์ผู้น้อง  ปกครองรัสเซียร่วมกัน  โดยมีพระเชษฐภคินีโซเฟีย (Sophia Alekseyevna พระธิดาของพระเจ้าซาร์อเล็กซิส) เป็นผู้สำเร็จราชการแทน (เนื่องด้วยองค์รัชทายาทยังอยู่ในวัยพระเยาว์)  ในเวลาต่อมา..มีการลอบปลงพระชนม์อิวานที่ 5 ในปี 1696 จึงเหลือซาร์ปีเตอร์พระองค์เดียวที่เป็นรัชทายาทและกษัตริย์แห่งรัสเซีย

ในปี ค.ศ.1694 พระเชษฐภคินีโซเฟียได้ก่อรัฐประหารขึ้น  เพื่อแต่งตั้งตัวพระนางเองเป็นกษัตริย์แห่งรัสเซีย  แต่ปรากฎว่า.. ฝ่ายสนับสนุนพระเชษฐภคินีโซเฟียเป็นฝ่ายพ่ายแพ้  ดังนั้น  พระมเหสีนาตาเลียพระมารดาของซาร์ปีเตอร์จึงได้ก้าวขึ้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ในปี 1689 ซึ่งพระเจ้าปีเตอร์มีพระชนมายุ 17 พรรษาแล้ว


ภาพ  พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่1 กำลังคิดวางแผนสร้างเมืองหลวงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กที่ชายฝั่งทะเลบอลติก

พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ ที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์แห่งรัสเซีย ในวันที่ 17 พฤษภาคม ค.ศ.1682 พระองค์ทรงเป็นบุรุษที่มีพระพลานามัยสมบูรณ์  พระวรกายกำยำล่ำสัน  มีพลัง  สูงเกือบเจ็ดฟุต  หนัก 240 ปอนด์  และทรงปฏิบัติพระราชภารกิจได้อย่้างคล่องแคล่วรวดเร็ว..ไม่รู้จักเหน็ดเหนือย (ว่ากันว่า..ในสมัยนั้นน้อยคนนักที่จะก้าวเดินได้ทันพระเจ้าซาร์ปีเตอร์  แม่แต่คนร่างใหญ๋ที่ถวายงาน..ก็ต้องใช้วิธีวิ่งตามพระองค์)  นอกจากนี้  พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ยังมีคุณสมบัติพิเศษ คือ  เป็นคนที่อยากรู้ยากเห็น ช่างสังเกตและมีความจำเป็นเลิศ  และเนื้องด้วย..พระมารดา พระนางนาตาเลียทรงเป็นธิดามาจากครอบครัวขุนนางที่มีรสนิยมไปทางประเทศทางยุโรปตะวันตก  พระเจ้าซาร์ปีเตอร์จึงมีความสนใจในวัฒนธรรมยุโรปตะวันตกเรื่อยมา

ในด้านการปกครอง : พระเจ้าปีเตอร์ได้ทรงแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 เขตแดน (Guberny) ได้แก่ มอสโก, อินเกอร์แมนแลนด์, เคียฟ, สโมเลนสค์, คาซาน, อาร์เชนเกล, อาซอฟและไซบีเรีย (ต่อมา..ได้มีการแบ่งเขตแดนออกอีกเป็น 45 และเป็น 50 มณฑล ในปี 1719) ซึ่งทุกเขตแดนยกเว้น..มอสโกจะมีข้าหลวงคนสนิทของซาร์ปีเตอร์ประจำอยู่..โดยข้าหลวงเหล่านี้..จะขึ้นตรงต่อพระเจ้าปีเตอร์เท่านั้น  ซึ่งเป็นการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง  และลดอำนาจของพวกขุนนางท้องถิ่นลง  โดยข้าหลวงประจำมณฑลจะมีหน้าที่ในการดูแลปกครองเขตมณฑล ในด้านการบริหาร  ตุลาการ และอื่นๆ  ส่วนเรื่องการเก็บภาษีให้ได้ตามเป้า..เป็นหน้าที่ของทหารปกครองเขตแทนในปี 1722  (ทำตามแบบอย่างการปกครองท้องถิ่นของสวีเดน) 

ในส่วนพวกขุนนางเก่าๆ  พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ได้ทรงพยายามลดบทบาทของพวกขุนนาง..และทำให้สภาโบย่าร์หมดความสำคัญลง  โดยใช้วิธีจัดตั้งสภาองคมนตรี  เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแทน.. นอกจากนี้..ยังมีกฎบังคับให้พวกขุนนางสามารถมอบมรดกที่ดิน..ให้แก่บุตรชายคนโตเพียงคนเดียว..เท่านั้น  และให้ส่งลูกชายคนรองๆ..เข้ารับราชการทหารและราชการพลเรือน (เพื่อจำกัดการขยายฐานอำนาจของครอบครัวขุนนาง)  และในภายหลัง..พระเจ้าปีเตอร์ได้ประกาศยกเลิกยศขุนนางระดับสูงที่เรียกว่า " โบย่าร์ " และให้ใช้ยศเคานต์ (count) และบารอน (baron) แบบยุโรปตะวันตกแทน  และทรงมีนโยบายกระตุ้นให้พวกขุนนางหันมาลงทุนในด้านการค้า เป็นต้น

ในด้านเศรษฐกิจ : พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ได้ทรงจัดระบบเศรษฐกิจของประเทศใหม่..ตามระบบพาณิชย์นิยมของตะวันตก  และเปิดประเทศตอนรับผู้ชำนาญงานสาขาต่างๆ..ให้เข้ามาตั้งถิ่นฐานและลงทุนในรัสเซีย  เพื่อรับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆและขยายตลาดการลงทุนภายในประเทศ  แต่ในอีกด้านหนึ่ง..พระองค์ก็ทรงห้ามนำสินค้าจากต่างประเทศเข้ารัสเซีย  และเร่งส่งเสริมอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศ  โดยทรงจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมของรัฐ..ที่ให้เอกชนเป็นหุ้นส่วนและร่วมในการดำเนินการ เช่น โรงทอผ้า, อู่ต่อเรือ, การผลิตอาวุธ, สร้างโรงถลุงเหล็ก, รองเท้า, สูบ่ ฯลฯ เป็นต้น  แต่ในภาคการเกษตร  พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ไม่ทรงให้ความสำคัญมากนัก  โดยมีการเกณฑ์และบังคับแรงงานชาวไร่ ชาวนาให้มาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแทน (ในช่วงเวลาเพียง 20 ปี กรุงมอสโกมีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกิดขึ้น 200 แห่ง  และขนาดเล็กมากกว่า 2,500 แห่ง  และทรงละเว้นภาษีแก่โรงงานอุตสาหกรรมเอกชน  แต่ในขณะเดียวกัน..ก็ทรงเพิ่มการเก็บภาษีเข้ารัฐ..ในด้านอื่นๆ เช่น การเก็บภาษีบุคคล (soul tax) ที่ทำรายได้ให้แก่ประเทศสูงถึง 4 เท่ามากกว่ารายรับจากภาษีอื่นๆ ) และในปี ค.ศ.1712 พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงมอสโคไปยังกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก (St. Petersburg) ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านตะวันออกของอ่าวฟินแลนด์  เพื่อให้รัสเซียกลายเป็น " หน้าต่างยุโรป " ในทางการค้าด้วย

ในด้านศาสนา : พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ทรงมีพระประสงค์ที่จะปฏิรูปองค์กรคริสตศาสนานิกายกรีกออร์โธด็อกซ์ให้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน  และบังคับให้ประชาชนนับถือในนิกายออร์โธด็อกซ์เหมือนพระองค์ นอกจากนี้..ยังทรงการเข้าควบคุมศาสนจักรอย่างเข้มงวด  และทำให้ศาสนจักรอยู่ใต้อำนาจของรัฐ..ระหว่างปี ค.ศ.1699-1700 และทรงยกเลิกอภิสิทธิ์ของพวกพระในการยกเว้นภาษี  และทรงประกาศยุบตำแหน่งพระสังฆราชอย่างเป็นทางการ ในปี 1712  และจัดตั้งสภาศาสนา (Holy Synod) เพื่อทำหน้าที่บริหารงานศาสนาแทนพระสังฆราช  ซึ่งสภาศาสนาจะอยู่ใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง (Chief Procuration) อีกที่หนึ่ง เป็นต้น

ภาพ อนุสาวรีย์ของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ในเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ปี 1782

ในด้านสังคม : ในชนบท ชาวไร่ ชาวนาซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ  รวมทั้งทาส..ต่างมีสถานภาพไม่แตกต่างกันนัก  โดยถูกแบ่งแยกออกเป็ย 2 กลุ่มด้วยกัน คือ ทาสติดที่ดิน (serf) และชาวนารัฐ (state peasants) ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มต่างมีหน้าที่ในการผลิตพืชผลทางการเกษตรป้อนให้กับเมืองหลวงและอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐอย่างเคร่งครัด  ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง  จะถูกแยกเป็นพวกพ่อค้า (trader) ช่างฝีมือ (artisan) ซึ่งทั้งสองกลุ่มนี้..ต้องเข้าร่วมในสังกัดองค์กรของรัฐ  โดยรัฐจะให้สิทธิในการปกครองดูแลกันเองในรูปแบบของการจัดการบริหารแบบเทศาภิบาล (municipal administration) โดยมีองค์กรบริหารของเมือง (town administration) คอยดูแลควบคุมอีกทีหนึ่ง เป็นต้น

ในด้านวัฒนธรรม  พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 ทรงประกาศให้ประชาชนและพวกขุนนางโกนหนวดเครา  เพราะทรงถือหนวดเคราเป็น " สัญลักษณ์ของโลกเก่า " ที่ล้าหลัง (ในปี 1705 พระองค์ทรงประกาศให้มีการเก็บ "ภาษีหนวดเครา " สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนไว้ตามธรรมเนียมนิยมแบบเก่า)  และทรงให้ข้าราชการขุนนางแต่งเครื่องแบบเลียนแบบขุนนางชาวยุโรปตะวันตกด้วย  และในปี 1699 พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ได้ทรงบคิดประดิษฐธงชาติตามแบบอย่างชาติตะวันตก  ที่ประกอบด้วยแถบสี ขาว น้ำเงิน แดงในแบบแนวนอนเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ (ที่ใช้สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน) และในปี 1702 ได้ทรงยกเลิกธรรมเนียมเทเรมเก่า  และอนุญาตให้ทั้งชายและหญิงทุกวัยและทุกชนขั้นทั่วจักรวรรดิได้มีโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน  และทรงให้ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาษาชาวดัชท์ทำการปรับปรุงแก้ไขตัวอักษรในภาษาสลาฟหรือรัสเซียให้มีลักษณะใกล้เคียงกับตัวอักษรละตินและกรีก  เพื่อความสะดวกในการเขียนและอ่านได้ง่ายยิ่งขึ้น  และส่งเสริมให้มีการแปลหนังสือและตำราต่างประเทศต่างๆ ทั้งทางคณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์และอื่นๆด้วย

ในรัชสมัยของพระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 รัสเซียได้ถูกปฏิรูปให้เ้ป็นจักรวรรดิที่ทันสมัย  จนเป็นประเทศอุตสาหกรรมมีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก..และกลายเป็นชาติมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่..ทางตะวันออกเฉียงเหนือของยุโรป  โดยพระองค์ทรงครองราชย์นานถึง 42 ปี  ซึ่งทำให้พระองค์ได้รับการยกย่องในฐานะกษัตริย์นักปกครองและนักปฏิรูปที่ยิ่งใหญ่ด้วย แต่กระนั้น..ก็คนส่วนหนึ่งวิจารณ์ว่า..พระองค์ทรงละทิ้งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแบบรัสเซียด้วย   นอกจากนี้..พระองค์ยังได้ชื่อว่า..เป็นกษัตริย์เผด็จการที่ทรงใช้พระราชอำนาจอย่างโหดเหี้ยมด้วยเช่นกัน  พระเจ้าซาร์ปีเตอร์ที่ 1 เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1725 ด้วยอาการติดเชื่อและเป็นแผลเรื้อรังที่กระเพาะปัสสวะ  ในพระชันษา 52 ปี

Giambattista Vico : วีโก้ (ค.ศ.1668-1744)



Giambattista Vico : วีโก้ นักปรัชญาการเมืองและนักโวหารชาวอิตาลี  ผู้ก่อตั้งปรัชญาประวัติศาสตร์ใหม่และกฎหมาย  ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นนักคิดที่โดดเด่น..ของยุคแสงสว่างทางปัญญา (Age of Enlightenment)  ซึ่งเขาเป็นนักวิพากษ์เหตุผลนิยมสมัยใหม่ และเป็นผู้แก้ต่างให้กับภูมิปัญญาแห่งยุคโบราณคาลสสิค  และให้ความสำคัญในการศึกษาทางประวัติศาสตร์..มากกว่าการใช้เหตุผลแบบญาณวิทยา (Epistemology) และวิทยาศาสตร์

จิลโอวานี่ แบททิสตาร์ วีโก้ เกิดวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1668 ประเทศอิตาลี ในครอบครัวคนขายหนังสือ (bookseller) ในเมืองเนเปิลส์  (ซึ่งมีหลักฐานและบันทึกทางประวัติศาตร์น้อยมาก..ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของวีโก้..นอกจากผลงานเขียนที่โด่งดังของเขา)  แต่เชื่อกันว่า..ในวัยเยาว์  วีโก้เป็นเด็กที่สุขภาพไม่ค่อยดีนัก (เพราะความอัตคัตยากจน)  โดยเขาได้รับการศึกษาเบื้องต้น..จากโรงเรียนของนิกายเยซูอิต (Jesuit school in Naples) ในช่วงเวลาสั้นๆ  และปี 1675 ช่วงฤดูใบไม้ร่วง  ด้วยวัยเพียง 7 ขวบ  เขาก็ออกจากโรงเรียน..และศึกษาด้วยตัวเองที่บ้าน  แต่กระนั้น..วีโก้ก็สามารถจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเนเปิลส์ (University of Naples) ในปี ค.ศ.1694  และทำงานเป็นหมอความประมวลกฏหมายแพ่ง  และแต่งงานกับเพื่อนในวัยเด็กชื่อ Teresa Caterina Destito ในปี ค.ศ.1699 ต่อมา..วีโก้ได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนวาทศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเนเปิลส์ในปี 1698  กระทั้งลาออกในปี 1734 (ด้วยปัญหาสุขภาพ)  และได้รับการแต่งตั้งเป็นนักประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Historiographer) โดยพระเจ้าชาร์ลที่ 3 แห่งเนเปิลส์ (Charles III of Naples) ในปี 1698 ซึ่งมีเงินเดือนให้ทุกเดือน..จนถึงปี 1741 สองปีก่อนเสียเขาชีวิต 23 มกราคม ค.ศ.1744  ด้วยวัย 75 ปี

ภาพ ต้นฉบับหนังสือ New Science ในปี ค.ศ.1725

ผลงานชิ้นสำคัญ : วีโก้ได้นิพนธ์หนังสือไว้หลายเล่ม  แต่ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผลงานชิ้นเอก ก็คือ งานเขียนชื่อ New Science (วิทยาศาสตร์ใหม่) ในปี ค.ศ.1725 ที่นำเสนออย่างชัดเจนในฐานะ " ศาสตร์แห่งเหตุผล " (Scienza di regionare) ที่เขาได้บรรยายถึง..กระบวนและขั้นตอนในการเปลี่ยนผ่านของสังคมมนุษย์..จากการเจริญเติบโต..สู่การล่มสลาย  โดยเริ่มต้นจาก " ยุคเทพ " (age of the gods) ซึ่งเป็นยุคที่โหดร้ายป่าเถื่อน..ที่มนุษย์ถูกปกครองโดยความกลัวในสิ่งเหนือธรรมชาติ  ต่อมาถึง " ยุควีรบุรุษ " (age of heroes) ที่มนุษย์รวมกลุ่มกันก่อตั้งเป็น " สังคม " ขึ้น  อันเป็นกลุ่มพันธมิตร..เพื่อปกป้องความขัดแย้งภายในและการโจมตีจากภายนอก โดยในขั้นนี้  สังคมได้ถูกแบ่งออกเป็นชนชั้นอย่างชัดเจน เช่น ผู้นำกับผู้ตาม, ทหารกับชาวนา, ชนชั้นสูงกับสามัญชน  กระทั้งต่อมา..ถึง " ยุคมนุษย์ " (age of men) ที่เป็นยุคซึ่งเกิดขึ้นจากผลของความขัดแย้งทางชนชั้น..ที่สร้างให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม  สิทธิและเสรีภาพ  แต่ก็..นำมาซึ่งการเผชิญกับปัญหาฉ้อราษฎร์บังหลวง  ความแตกแยกทางความคิดเห็น  และเป็นไปได้ที่อาจเปลี่ยนกลับไปสู่ยุคแห่งความป่าเถื่อนแบบดั้งเดิมอีกครั้ง  โดยงานเขียนชื่อ New Science นี้ถือเป็นงานบุกเบิกแรกๆ..ของวิชามนุษย์วิทยาเชิงวัฒนธรรม  โดยอาศัยการศึกษาจากสังคมศาสตร์และประวัติศาสตร์  นอกจากนี้..เขายังได้เสนอทฤษฏีวัฏจักรประวัติศาสตร์  ที่กล่าวถึง..วงเวียนของการเกิด  พัฒนาการ  และการเสื่อมถอยของมนุษย์

วีโก้เชื่อว่า..การศึกษาในเรื่องภาษา  ประเพณี  ตำนาน  สถาบันทางสังคมและประวัติศาสตร์  จะทำให้เราเข้าใจสังคมมนุษย์ได้ดีกว่า..การใช้เหตุผลทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์  ดังนั้น  เขาจึงปฏิเสธทัศนะของ Descartes ที่เน้นเรื่องคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ  โดยวีโก้โต้แย้งว่า..เราสามารถเข้าใจประวัติศาสตร์ได้มากกว่าธรรมชาติ  เพราะเราคือผู้สร้างประวัติศาสตร์  นั่นเอง

Gottfried Wilhelm Von Leibniz : ไลบ์นิช (ค.ศ.1645-1716)



Gottfried Wilhelm Von Leibniz : คอทท์ฟีด วิลเฮล์ม ฟอน ไลบ์นิช นักคณิตศาสตร์และนักปรัชญาชาวเยอรมัน  กลุ่มเหตุผลนิยม (Rationalism) ได้รับการยกย่องเป็นผู้คิดค้นคณิตศาสตร์แคลคูลัสกณิกนันต์ (Differential and Integral Calculus) ที่เป็นอิสระและแตกต่างจาก ไอแซ็ก นิวตัน  และเขาเป็นผู้คิดค้นสัญกรณ์หรือเครื่องหมายทางคณิตศาสตร์ต่างๆ..ที่ถูกใช้ต่อๆกันอย่างกว้างขวาง  และเป็นคนพัฒนาระบบเลขฐานสองที่กลายรากฐานของคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันนี้

คอทท์ฟีด วิลเฮล์ม ฟอน ไลบ์นิช เกิดวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ.1716 ในเมืองไลพ์ซิก (Leipzig) เขตแซกโซนี (Electorate of Saxony) ประเทศเยอรมนี  ครอบครัวมีเชื้อสายสลาฟ (Slavic) บิดาเป็นศาสตราจารย์ด้านปรัชญาที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิก  ซึ่งเสียชีวิตลง..ตอนไลบ์นิชอายุ 6 ขวบ  ดังนั้น  ในวัยเยาว์..ไลบ์นิชจึงอยู่ในการอบรมเลี้ยงดูของมารดา  และศึกษาด้วยตัวเองเป็นส่วนใหญ่  โดยบิดาได้ทิ้งห้องสมุดส่วนตัว..ไว้ให้เป็นมรดก  และเมื่อไลบ์นิชอายุ 7 ขวบ  เขาก็เริ่มอ่านหนังสือทางปรัชญาและเทววิทยาของนักคิด..ที่มีชื่อเสียงหลากหลายคน  ซึ่งทำให้..ไลบ์นิชกลายเป็นหนอนหนังสือและเป็นเด็กค่อนข้างเก็บตัว  และเนื่องด้วย..หนังสือส่วนใหญ่ในห้องสมุด..เป็นหนังสือภาษาละติน  ด้วยเพียงวัย 12 ปี  เขาจึงมีความเชียวชาญในภาษาละตินอย่างมาก

ในปี ค.ศ.1661  เมื่ออายุ 15 ปี  ไลบ์นิชได้เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยไลพ์ซิก ในสาขาวิชาปรัชญา  กฎหมายและคณิตศาสตร์  และจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านปรัชญา ในปี 1663 และในปีต่อมา.. เขาได้รับปริญญาโทด้านปรัชญา (1664) และได้รับปริญาเอกด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัย Altdort ในปี 1666 ด้วยวัยเพียง 20 ปี  จากวิทยานิพนธ์ที่ชื่อ " Inaugural Disputation on Ambiguous Legal Cases " (ตัวอย่างปัญหาปรัชญาในกฎหมาย) และในปีค.ศ.1666 เขาเริ่มรับราชการในหน่วงงานรัฐ..ด้านศาสนาและวัฒนธรรมที่ Nuremberg  และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ประเมินในศาลอุทธรณ์ ในปี 1669 และได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง  แต่ไลบ์นิชปฏิเสธเพราะเห็นว่า..การเป็นอาจารย์สอนในมหาวิยาลัยเป็นการปิดกั้นเสรีภาพทางความคิด  ในปี 1672 เขาได้เดินทางไปปารีส ฝรั่งเศส  และพำนักอยู่หลายปี..ที่นั้นไลบ์นิชได้พบกับ Christiaan Huygens นักคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ผู้มีชื่อเสียงชาวดัทช์..ที่เป็นผู้สอนและผลักดันไลบ์นิชให้ศึกษาด้านคณิตศาสตร์อย่างจริงจังมากขึ้น  ซึ่งในกาลต่อมา..ทำให้ไลบ์นิชสามารถพัฒนาวิชาคณิตศาสตร์แคลคูลัสกณิกนันต์ (Differential and Integral Calculus) ได้สำเร็จ  และมีความเป็นอิสระและแตกต่างจาก ไอแซ็ก นิวตัน  ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในเวลาต่อมา  นอกจากนี้เขายังเป็นเพื่อนสนิทกับ Ehrenfried Walther von Tschirnhaus นักคณิตศาสตร์ชาวเยอรมันผู้คิดค้นวิชาคณิตศาสตร์ Tschirnhaus transformation อีกด้วย และในปี ค.ศ.1675 ไลบ์นิชได้รับเชิญให้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของ French Academy of Sciences ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงมากขึ้น..ในฐานะปราชญ์ พหูสูต  นอกจากนี้..เขายังได้ประดิษฐ์เครื่องคิดเลข Stepped reckoner : 1672-1694 และนำเสนอต่อราชสมาคมลอนดอน  ซึ่งเป็นเครื่องคำนวณที่แม่นยำมาก  แต่สิ่งที่ทำให้ไลบ์นิชภาคภูมิใจมากที่สุด ก็คือ การที่เขาได้ช่วยเหลือเจ้าหญิงโซฟีแห่งปรัสเซีย (Sophie of Prussia) ให้ก่อตั้งสถาบัน Berlin Academy of Sciences จนสำเร็จในปี ค.ศ.1700


ภาพ  เครื่องคิดเลข Stepped reckoner ของไลบ์นิช : 1672-1694

ผลงานเขียนสำคัญ : ในช่วงชีวิตของไลบ์นิช์ ตั้งแต่ปี 1666-1714 เขาได้ตีพิมพ์แผ่นพับและบทความวิชาการไว้จำนวนมาก แต่..งานเขียนชิ้นอุโฆษ..2 ชิ้น  ที่ทำให้คนทั่วไปรู้จักไลบ์นิช ก็คือ 1) Dissertation on the Art of Combinations : 1666 (วิทยานิพนธ์เรื่อง..ศิลปะแห่งการผสานรวมกัน) ที่นำเสนอวิธีการวิเคราะห์ความสัมพันธ์..ในเรื่องตัวอักษรและความคิดของมนุษย์ (The alphabet of human thought) ซึ่งเป็นตรรกะและภาษาสากล..อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการคิดค้นสัญกรณ์ทางคณิตศาสตร์และการพัฒนาทางภาษาศาสตร์ด้วย และงานเขียนชิ้นที่ 2) Monadologie : 1714 ที่เสนอว่าทุกสิ่งประกอบด้วยหน่วยเล็กๆที่เรียกว่า " โมนาด " (Monads) อันนับไม่ถ้วนและมีจำนวนอเนกอนันต์  ซึ่งเป็นแนวคิดทางอภิปรัชญาที่สำคัญของไลบ์นิชในเรื่อง Reality " ความจริงแท้คือจิต " หรือ โมนาดอันเป็นสิ่งที่อยู่เหนือประสาทสัมผัส   โดยโมนาดแต่ละตนจะทำหน้าที่และเคลื่อนไหวแตกต่างกัน  เป็นอิสระจากกัน ตามกัมมันตภาพ (Activity) และจลนภาพในตัวมันเอง  แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีความเกี่ยวพันและมีปฏิกิริยาต่อกัน (interaction) ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงและทำลายได้    โดยมีโมนาดสูงสุด คือ " พระเจ้า " (The absolute is God) เป็นต้น

ภาพ  สมุดบันทึกของไลบ์นิช ในช่วงปี 1669-1704 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติโปแลนด์

ชีวิตส่วนตัว :   ถึงไลบ์นิชไม่ใช่หนุ่มที่หน้าดี  แต่ก็เป็นคนมีเสน่ห์  มีมารยาทดี  มีอารมณ์ขันและจินตนาการ  และมีเพื่อนเยอะ..อีกทั้งยังมีคนชื่นชมไปทั่วยุโรป  และถึงแม้..เขาจะมีข้อพิพาทกับไอแซก  นิวตัน, จอห์น คิลล์ และคนอื่นๆ ในข้อพิสูจน์ที่ว่า..ใครคนใด ?..ค้นพบวิชาแคลคูลัสก่อนกัน (ที่ในตอนนั้น  มีหลายคนที่ได้คิดค้นและพัฒนาคณิตศาสตร์แคลคูลัสในเวลาไล่เลี่ยกัน) และมีการโต้ตอบข้อพิพาทกันไปมา.. แต่ไลบ์นิชก็ไม่ได้ใส่ใจในข้อพิสูจน์..เรื่องนี้มากนัก  และไลบ์นิชอยู่เป็นโสด..โดยไม่ได้แต่งงาน  และมีทายาทเพียงคนเดียวคือ ลูกเลี้ยงของน้องสาวเขา ในบั้นปลายชีวิต  ไลบ์นิชต้องทนทุกข์ทรมานอย่างมาก..จากโรคข้ออักเสบและเกาต์  กระทั้งวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ.1716 ไลบ์นิชก็ถึงแก่กรรมด้วยอายุ 70 ปี  ที่ฮันโนเวอร์ (Hanover or Hannover) ในปรัสเซีย  และเป็นเรื่องน่าเศร้า..ที่ในพิธีศพของไลบ์นิช  ไม่มีใครในราชสำนักบัณฑิตฝรั่งเศส (French Academy of Sciences) มาร่วมพิธีศพของเขาแม้แต่คนเดียว  แม้แต่..ราชสมาคมลอนดอนและราชบัณฑิตยสถานเบอร์ลิน..ก็ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ข่าวการมรรณกรรมของเขาด้วยซ้ำไป  และป้ายหลุมศพของไลบ์นิชก็ไม่มีคำจารึกใดๆเป็นเวลานาวกว่า 50 ปี  กระทั้ง..ได้รับการยกย่องจากราชสมาคมวิทยาศาสตร์ฝรั่งเศส  ในภายหลัง

หมายเหตุ : ไลบ์นิชได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปรัชญา..หนึ่งในสามหัวหอกคนสำคัญ  ของกลุ่มเหตุผลนิยม (Rationalism) คือ 1.เดส์การต์ 2.สปีโนซา 3.ไลบ์นิช ในศตวรรษที่ 17  ซึ่งปรัชญาของพวกเขามีอิทธิพลต่อยุคแสงสว่างทางปัญญา (Enlightment) ในยุโรป

วาทะกรรม : " รัก คือการวางความสุขของเราไว้ในความสุขของคนอีกคนหนึ่ง "

William Penn : วิลเลียม เพนน์ (ค.ศ.1644-1718)


William Penn : วิลเลียม  เพนน์  ผู้นำกลุ่มลัทธิเควกเกอร์ (Quakers) ชาวอังกฤษ  และผู้ก่อตั้งอาณานิคมเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ที่สุขสงบในสหรัฐ (ค.ศ.1681-1783) และเขายังสนับสนุนเสรีภาพในทางความเชื่อและการนับถือศาสนาของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่..ในสหรัฐอเมริกาด้วย

วิลเลียม  เพนน์ เกิดวันที่ 14 ตุลาคม ค.ศ.1644 ที่ Tower Hill  ในลอนดอน  ประเทศอังกฤษ  บิดาชื่อ เซอร์วิลเลียม เพนน์ (Sir William Penn) เป็นนายพลเรือเอกแห่งกองทัพเครือจักรภพ (ไอร์แลนด์และสก็อตแลนด์) ในช่วงสงครามกลางเมืองของอังกฤษ (ระหว่างกลุ่มโอลิเวอร์ ครอมเวลล์และพระเจ้าชาร์ลที่ 1 : ค.ศ.1642-1651) และเมื่อเพนน์ อายุได้ 5 ขวบ  พระเจ้าชาร์ล..ก็ถูกตัดศรีษะ..ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อังกฤษมีปัญหาความวุ่นวายภายในประเทศอย่างมาก  ในวัยเยาว์..ครอบครัวของเพนน์ ได้ย้ายไปอยู่เอสเซกซ์ (Essex) ชีวิตในชนบทที่สงบสุข..ได้สร้างความประทับใจให้กับเพนน์อย่างมาก  ในเบื้องต้น  เขาได้รับการศึกษาที่โรงเรียน Chigwell  และต่อมา..เพนน์ได้เข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Christ Church Oxford) แต่ถูกขับไล่ออกจากมหาวิทยาลัย  เพราะเขามีความเชื่อทางศาสนาแบบเพียวริตัน (Puritans) ที่ต้องการปฏิรูปคริสตศาสนาในอังกฤษ

ภาพ วิลเลียม เพนน์ ต่อหน้าพระพักตร์พระเจ้าชาร์ลที่ 2 วาดโดย Jean Leon Gerome : 1680

ต่อมา..ในปี 1659  ครอบครัวของเพนน์ก็ถูกเนรเทศไปไอร์แลนด์โดยคำสั่งของครอมเวลล์ (เนื่องด้วยเซอร์ วิลเลียม เพนน์ผู้บิดาทำภาระกิจล้มเหลวในทะเลแคลริเบียนและถูกสงสัยว่าเป็นผู้สนับสนุนการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์) ในช่วงเวลาที่อยู่ในไอร์แลนด์..เพนน์อายุ 16 ปี และเริ่มเข้าร่วมกับกลุ่ม The Religious Society Of Friends หรือเควกเกอร์ (Quakers) ซึ่งเป็นกลุ่มเสรีนิยมที่เคลื่อนไหวทางศาสนา..และการเมืองด้วย  กระทั้งในปี 1660  เมื่อครอมเวลล์ตาย  ครอบครัวเพนน์ก็ได้เดินทางกลับอังกฤษ  เซอร์วิลเลียม เพนน์ ผู้บิดาได้มีส่วนร่วมอย่างมากในการฟื้นฟูระบอบกษัตริย์ในอังกฤษ  และช่วยนำพระเจ้าชาร์ลที่ 2 กลับคืนสู่ราชบัลลังค์อีกครั้ง  จนได้รับปูนบำเหน็จรางวัลแต่งตั้งให้เป็นอัศวิน (Knight) และเมื่อ..อังกฤษได้กลับมาปกครองด้วยระบบกษัตริย์อีกครั้ง  พระเจ้าชาร์ลที่ 2 ทรงมีนโบายจำกัดทางศาสนา  โดยทรงออกกฎหมายให้ในนิกายแองกิกัล หรือ Church of England เป็นศาสนาประจำชาติ  ด้วยเหตุนี้  กลุ่มนิกายอื่น..เช่น เพรสไบรทีเรียน  แบ็บทิสต์และเควกเกอร์..ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นพวกนอกรีต..ซึ่งมีโทษให้จำคุก..แก่ผู้ที่นับถือนิกายเหล่านี้ทุกคนด้วย

ในปี ค.ศ.1669-70  เพนน์ถูกบิดาส่งตัวไปไอร์แลนด์อีกครั้ง  เพื่อจัดการเรื่องทรัพย์สินของครอบครัว (family landholding) ซึ่งในครั้งนี้..เขาได้เข้าร่วมการประชุมกับกลุ่มเควกเกอร๋หลายๆครั้ง..และได้อยู่ร่วมกับครอบครัวเควกเกอร์ชั้นนำด้วย (เพนน์เป็นเพื่อนสนิทของ George Fox ผู้ก่อตั้งกลุ่มเควกเกอร์ที่ออกเคลื่อนไหว..และเดินทางด้วยกันไปทั่วยุโรปและอังกฤษ) ซึ่งทำให้เพนน์มีความศรัทธาในกลุ่มเควกเกอร์มาก  ในกาลต่อมา..แม้เพนน์จะรู้ว่า..มีอันตรายในการเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มเควกเกอร์ในอังกฤษ  แต่เขาก็ไม่เกรงกลัว..และเริ่มการกล่าวสุนทรพจน์ในที่สาธารณะและพิมพ์เอกสารเผยแพร่แนวคิดแบบเควกเกอร์..จนเขาถูกจับติดคุกระยะสั้นๆที่ Tower of London ถึง 4 ครั้ง  
  
ในปี ค.ศ.1682 วิลเลียม  เพนน์ได้เดินทางมา..อเมริกาดินแดนอาณานิคมใหม่  เขาได้ช่วยออกแบบผังเมืองฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia : ที่มีความหมายว่า " ความรักฉันพี่น้อง ") โดยออกแบบให้เมืองมีถนนกว้างและจุดตัดเป็นรูปสีเหลี่ยม  ที่ต่อมา..กลายเป็นเมืองหลวงของอาณานิคม  และเนื่องด้วย..เพนน์ได้รับมรดกจากบิดาเป็นที่ดินในแถบเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) ใกล้แม่น้ำเดลาแวร์ (Delaware River) เขาจึงมีความต้องการที่จะสร้างอาณานิคมที่สงบสุขและเป็นที่ตั้งมั่นของชาวเควกเกอร์..และเป็นที่ที่ให้ทุกคนมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา  ดังนั้น  เพนน์จึงได้จ่ายเงินค่าที่ดินจำนวนหนึ่งแก่อินเดียนแดงท้องถิ่น  และทำสัญญาเพื่อป้องกันปัญหาการโจมตีจากชาวพื้นเมือง    และเขาได้เขียนเอกสารทั้งภาษาอังกฤษ  ฝรั่งเศส  ดัทช์และเยอรมัน  เพื่อเชิญชวนชาวยุโรปที่สนใจให้ย้ายถิ่นฐานเข้ามาตั้งรกรากในเพนซิลเวเนีย  อีกทั้งยังออกนโนบายให้คนจนได้มีโอกาสสร้างฐานะให้ตนเองก่อนด้วย  โดยกำหนดให้ผู้ชายทุกคนได้มีสิทธิถือครองที่ดิน 40 เอเคอร์ในราคาเพียง 10 เหรียญ  และผ่อนปรนให้จ่ายเงินจำนวนนี้..หลังจากการเก็บเกี่ยวพืชผลในครั้งแรกได้แล้ว  ด้วยเหตุนี้  ชาวเควกเกอร์จำนวนมากในอังกฤษและชาวยุโรปมากมายที่ได้รับรู้ข่าวเรื่องอาณานิคมใหม่นี้..จึงหลังไหลเข้ามาในเพนซิลเวเนีย  โดยชาวอาณานิคมเพนซิลเวเนียส่วนใหญ่..ประกอบอาชีพทำไร่  ปลูกข้าว  ทำป่าไม้และขายขนสัตว์  เป็นต้น

ภาพ  ร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเพนซิลเวเนีย  ที่เขียนโดย วิลเลียม  เพนน์ ค.ศ.1618  

ในการปกครอง วิลเลียม เพนน์  ได้ตั้งให้อาณานิคมมี 2 สภา คือ  สภาสูงที่มีหน้าที่เสนอกฎหมาย..และสภาล่างทำหน้าที่รับรองหรือปฏิเสธกฎหมาย  โดยให้ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินและผู้ที่เสียภาษีมีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้  และอาณานิคมได้ให้การคุ้มครองในสิทธิส่วนบุคคลรวมถึงสิทธิในทรัพย์สินด้วย นอกจากนี้..เพนน์ยังได้ก่อตั้งอาณานิคมเดลาแวร์ในปี ค.ศ.1683 อีกด้วย

หมายเหตุ : เพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) เป็นดินแดนอาณานิคมเก่าของสวีเดน  ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำเดลาแวร์ (Delaware River) หลังจากที่อังกฤษครอบครองในปี ค.ศ.1618  พระเจ้าชาร์ลที่ 2 ได้ทรงมอบดินแดนส่วนนี้ให้กับวิลเลียม เพนน์  เพื่อเป็นการชดใช้หนี้ที่พระเจ้าชาร์ลที่ 2 ได้มีต่อบิดาของเพนน์  เดิมทีดินแดนนี้มีชื่อว่า ซิลวาเนีย (Sylvania) ที่แปลว่า " ป่า " ต่อมากษัตรฺิย์ชาร์ลได้เติมคำว่า " เพน " (Penn) เข้าไปด้วย  เพื่อเป็นเกียรติแก่ตระกูลเพน  ด้วยเหตุนี้ เพนซิลเวเนียจึงเป็นดินแดนของตระกูลเพนน์  ตั้งแต่นั้นมา... 

วาทะกรรม : " อย่าเพิ่งยอมแพ้  ตราบเท่าที่ยังมีความหวัง  แต่อย่าหวังจนเกินเหตุผล  เพราะนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนา  มากกว่าการพินิจพิจารณา "

Basho : บาโช (ค.ศ.1644-1694)



Basho : บาโช  หรือ " มัตสึโอะ  บาโช " (Matsuo Basho) นักกวีชาวญี่ปุ่น  ในสมัยเอโดะ  ผู้เป็นปรมาจารย์ของการเขียนบทกวี " ไฮกุ " (haiku) ซึ่งมีบทบาทสำคัญในช่วงปลายศตวรรษที่ 19  อันเป็นเสมือนรากฐานทางศิลปะและวรรณกรรมของญี่ปุ่น  และมีความเกี่ยวข้องอย่างแน่นแฟ้นกับลัทธิเต๋าและนิกายเซนในญี่ปุ่นด้วย

บาโช เกิดปี 1644  ในเมืองอุเอโนะจังหวัดอิงะ (Iga) ซึ่งปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดมิเอะ (Mie prefecture) บิดาเป็นซามูไรระดับล่าง..ที่ทำงานอยู่ในโรงครัว  ต่อมา..เมื่อบาโชเริ่มโตเป็นหนุ่ม  หลังจากการใช้ชีวิตหลายปี..ภายใต้วิถีชีวิตซามูไร  เขาได้ค้นพบว่า..การเป็นนักประพันธ์นั้นเหมาะกับเขามากกว่า  บาโชจึงได้ละทิ้งวิถีชีวิตซามูไร  ประจวบเหมาะ..ในปี ค.ศ. 1666 เมื่อบาโชอายุ 22 ปี  เจ้านายเก่าที่เขาเคยรับใช้ได้สิ้นชีวิตลง  บาโชจึงเลือกกลับไปบ้าน..แทนที่จะรับตำแหน่งต่อในฐานะซามูไร หลังจากนั้น..เขาย้ายไปเอโดะในปี ค.ศ. 1675 (ปัจจุบันคือโตเกียว) ต่อมาในปี ค.ศ. 1678 ที่เอโดะ เขาได้รับตำแหน่งให้เป็นปรมาจารย์ไฮกุ [Haiku master (Sosho)] และเริ่มใช้ชีวิตแบบนักกวีอาชีพ ในปี ค.ศ. 1680 เขาได้ย้ายไปยังฟุกุงะวะ (ส่วนหนึ่งของเอะโดะ) และได้เริ่มปลูกต้นบาโช (芭蕉 Bashō ต้นกล้วย) ที่เขาชื่นชอบไว้ในสวนบริเวณบ้าน  ซึ่งในภายหลัง..เขาได้ใช้นามแฝงว่า " บาโช " ด้วย

ภาพ  ลายมือของท่านบาโชในบทกวี กบตัวน้อย

ที่สระน้ำโบราณ
กบตัวน้อยกระโจนลงไป
เสียงน้ำกระจาย จ๋อม

ในช่วงชีวิต  บาโชได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่ว  ทั้งสถานที่ที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์และสถานที่ที่สวยงามของญี่ปุ่น  ซึ่งมีปรากฏอยู่ในงานประพันธ์ของเขา  และในการเดินทางบาโชได้พบสานุศิษย์และเพื่อนร่วมเดินทางมากมาย  และเขาสอนพวกสานุศิษย์ด้วยเร็งงะ (連歌 renga : บทกวีดังเดิมของญี่ปุ่น) 

หนังสือที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ เส้นทางสายเล็ก ๆ ไปสู่ทางเหนือ (The Narrow Road Through the Deep North, 奥の細道 Oku no Hosomichi) ที่เขียนขึ้นภายหลัง..จากการเดินทางของบาโชและลูกศิษย์  ที่เริ่มออกเดินทางจากเอะโดะในวันที่ 24 มีนาคม ค.ศ. 1689  ตามเส้นทางไปโทโฮะกุและโฮะกุริกุ จากนั้นจึงกลับสู่เอะโดะในปี ค.ศ. 1691 ซึ่งการเดินทางในหนังสือนี้จบลงที่โองะกิและมิโนะ (ปัจจุบันคือ จังหวัดกิฟุ)

บาโชเสียชีวิตด้วยอาการมีแผลในกระเพาะอาหาร..ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิในปี ค.ศ. 1694 ที่โอซาก้า ท่ามกลางลูกศิษย์ที่ห้อมล้อมเขาอยู่ด้วยความโศกเศร้าอาลัย ก่อนสิ้นใจ บาโชได้เขียนไฮกุ  สุดท้ายไว้ว่า

ในการเดินทางฉันป่วย
ความฝันวิ่งอยู่รอบกาย
ในทุ่งที่ปกคลุมด้วยหญ้าแห้ง  

หมายเหตุ : บทกวีไฮกุมีรูปแบบพิเศษ  เพราะมีฉันทลักษณ์ที่แตกต่างจากบทกวีทั่วไป  คือ  เน้นการลดทอนให้น้อยลง  เหลือเพียงตัวอักษร 3 วรรค ยาว 5-7-5 รวมเป็นตัวอักษรเพียง 17 ตัวเท่านั้น  ทั้งนี้..เพราะไฮกุ..มุ่งสะท้อนถึงความเรียบง่าย  ความไร้แบบแผน  และความเป็นจริงของธรรมชาติ..และภาวะของจิตใจ  ความรู้สึก  อย่างตรงไปตรงมา  ด้วยกลวิธีที่สั้นกระชับ  และฉับพลัน  สรุปหลักการ คือ การนำเสนอภาวะแห่งสัจจะ..ที่เป็นจริงและสวยงาม  ในชั่วขณะหนึ่ง  นั่นเอง

Sir Isaac Newton : เซอร์ ไอแซก นิวตัน (ค.ศ.1642-1727)



Sir Isaac Newton : เซอร์ ไอแซก นิวตัน  นักปรัชญาธรรมชาติ  นักคณิตศาสตร์และนักฟิสกส์ชาวอังกฤษ  ผู้วางรากฐานของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่  ในช่วงปี 1665-1666  และได้รับการยกย่องให้เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ทรงอิทธพลมากที่สุดของโลกนี้

เซอร์ ไอแซก นิวตัน  เกิดเมื่อวันที่ 4 มกราคม ค.ศ.1643 ที่วูลส์ธอร์พ (Woolsthorpe) หมู่บ้านเล็กๆในชนบท..เขตลินคอล์นเชียร์ (Lincolnshire) ประเทศอังกฤษ  ในครอบครัวเจ้าของที่ดินที่ไม่ใหญ่โตนัก  โดยบิดาได้เสียชีวิตก่อนเขาเกิด 3 เดือน  เล่ากันว่า  เมื่อแรกเกิดนิวตันมีตัวเล็กมาก  เพราะเป็นทารกที่คลอดก่อนกำหนด  ซึ่งมารดานางฮานนาห์ อายส์คัฟ (Hannah Ayscough) ไม่คิดว่าเขาจะรอดชีวิตได้  เธอกล่าวว่า..เขาตัวเล็กกระจ้อยร่อย..จนสามารถเอานิวตันไปใส่ไว้ในเหยือกควอร์ทได้ (ขนาดประมาณ 1.1 ลิตร)  แต่กระนั้น..นิวตันก็รอดชีวิตมาได้  และเมื่อเขาอายุ 3 ขวบ  มารดาของเขาก็แต่งงานใหม่  และทิ้งนิวตันไว้ให้มาร์เกรีย์ อายส์คัฟ (Margery Ayscough) คุณยายของนิวตันเป็นผู้เลี้ยงดู  ซึ่งนั้น..ทำให้เขาไม่ค่อยลงรอยกัน..กับมารดาและพ่อเลี้ยงเรื่อยมา  ในวัยเด็ก..นิวตันค่อนข้างเป็นเด็กบอบบาง  เขาไม่ชอบเล่นอะไรที่ต้องใช้กำลังกายมากนัก  แต่เขามักประดิษฐสิ่งต่างๆไปเล่นกับเพื่อนๆเสมอ  นอกจากนี้เขายังสามารถปั้นรูปจำลองต่างๆได้ดีอีกด้วย

เมื่อนิวตันอายุ 12 - 17 ปี  เขาเข้าเรียนที่คิงส์สกูล แกรนแฮม (King's School Grantham) ต่อมาในปี 1659  เมื่อมารดาเป็นหม้ายครั้งที่ 2  นิวตันต้องกลับบ้านเกิด..และถูกมารดาบังคับให้..เขาทำงานในฟาร์ม  ซึ่งได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากบิดาเก่า  แต่นิวตันเกลียดการเป็นชาวนา  ซึ่งครูใหญ่ที่คิงส์สกูลได้ช่วยพูดโน้มน้าวให้มารดาของนิวตัวส่งเขากลับไปเรียนต่อให้จบ  และแรงผลักดันครั้งนี้เอง  ส่งผลให้นิวตันกลายเป็นนักเรียนที่ขยันขันแข็งและมีผลการเรียนสูงที่สุด..ในคิงส์สกูล

ภาพ  การกระจายของแสงผ่านแท่งแก้วปริซิม (Prism) จนเกิดเป็นแสงสีรุ้ง (Spectrum)

ในปี ค.ศ.1661  นิวตันได้เข้าเรียนที่วิทยาลัยทรินิตี้ เคมบริดจ์ (Trinity College Cambridge) ในฐานะซีซาร์ (sizar : คือทุนเรียนแบบที่นักศึกษาต้องทำงานไปด้วย..เพื่อแลกกับที่พัก..อาหารและค่าธรรมเนียม) โดยวิทยาลัยในยุคนั้น..ยังคงใช้การเรียนการสอนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดของอริสโตเติล..เป็นหลัก  ซึ่งนิวตันไม่ค่อยพอใจสักเท่าไหร่..แต่เขากลับชอบศึกษาในแนวคิดของนักปรัชญาสมัยใหม่ เช่น เดส์การ์ตส์ และนักดาราศาตร์ เช่น โคเปอร์นิคัส, กาลิเลโอและเคปเลอร์มากกว่า  ดังนั้น  ในช่วงเวลา..ที่นิวตันศึกษาในเคมบริดจ์จึงไม่ค่อยมีอะไรโดดเด่นมากนัก  กระทั้ง..จบการศึกษาได้รับปริญญาตรีในเดือนสิงหาคม ค.ศ.1665  และในปี ค.ศ. 1664-65 ก่อนที่นิวตันจะได้รับปริญญาโท  ก็เกิดกาฬโรคระบาดอย่างรุนแรงไปทั่วกรุงลอนดอน  ทางมหาวิทยาลัยจึงถูกสั่งปิด  ดังนั้น  เหล่านักศึกษาจึงต่างแยกย้ายกันกลับภูมิลำเนาเดิม..ซึ่งนิวตันก็ได้เดินทางกลับวูลส์ธอร์พบ้านเกิด  และในช่วงเวลา 2 ปีสำคัญ  ที่นิวตันได้ศึกษาด้วยตัวเองที่บ้านในวูลส์ธอร์พ..กลับได้สร้างคุณประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่..ให้กับวงการวิทยาศาสตร์โลก..เพราะเขาสามารถค้นพบทฤษฏีที่สำคัญ 3 เรื่องด้วยกัน

ผลงานสำคัญ :  ชิ้นแรก..นิวตันได้ค้นพบวิชาคณิตศาสตร์แขนงใหม่ที่เรียกกันว่า " แคลคูลัส " (Calculus) ซึ่งก่อนหน้านี้  กาลิเลโอได้แสดงวิธีหาแรงจากการเคลื่อนที่ของวัตถุไว้เพียงคราวๆเท่านั้น  ที่ต่อมาเดส์การ์ทส์ได้เอาสมการทางพีชคณิต..มาช่วยในการคำนวณเกี่ยวกับจุดและเส้นตามวิธีการของกาลิเลโอนั้น..ให้ง่ายเข้า  แต่ก็ไม่ได้อธิบายใว้อย่างละเอียด..มากนัก  กระทั้ง..ในปี ค.ศ.1665 ที่นิวตันได้แสดงถึงวิธีคำนวณเกี่ยวกับเส้นโค้งและพื้นที่  ที่เขาเรียกว่า " Method of fluxions " ซึ่งในปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ " Differential and Integral Calculus " ซึ่งเขาได้ทดลองคำนวณเกี่ยวกับพื้นที่ Hyperbola อย่างละเอียด..จนได้ทศนิยมถึง 52 ตำแหน่ง  นอกจากนี้..นิวตันยังค้นพบทฤษฏีทวินาม (Binomial Theorem) และวิธีการกระจายอนุกรม (Method of expression) ของพีชคณิตอีกด้วย

ผลงานชิ้นที่สอง  นิวตันได้ค้นพบธรรมชาติของแสง คือ ในวันหนึ่ง..เมื่อเขากำลังทดลองฝนเลนส์เพื่อจะทำเป็นกล้องโทรทัศน์ใช้ดูสิ่งต่างๆ โดยไม่ให้มีสีแทรก  เขาได้พบว่า..เมื่อเอาแท่งแก้วรูปสามเหลี่ยม (Prism) ในห้องที่มืดสนิท  ให้แสงผ่านรูเล็กๆของฝาผนังเข้ามาตกกระทบบนแท่งแก้วปริซิม..เมื่อแสงทะลุผ่านแท่งแก้วปริซึม  แสงแดดจะถูกขยายออกเป็นแสง 7 สี ได้แก่ สีม่วง, คราม, น้ำเงิน, เขียว, เหลือง, แสดและสีแดง ที่เรียกกันว่าสีรุ้ง (Spectrum) ซึ่งนิวตันได้พยายามอยู่นาน..ที่จะทำให้เลนส์ที่ใช้ในกล้องโทรทัศน์..ปราศจากสีรุ้งหรือสีแทรก  แต่ในที่สุด  เขาก็พบว่าไม่สามารถทำได้สำเร็จ  ถ้า..เขายังจะสร้างกล้องโทรทัศน์โดยใช้เลนส์แบบหักเหแสงอยู่  ดังนั้น  เขาจึงหันไปสร้างกล้องโทรทัศน์แบบสะท้อนแสงแทน  โดยใช้เลนส์เว้าทำหน้าที่แทนเลนส์วัตถุ  ส่วนเลนส์ตาใช้คงใช้เลนส์นูนตามเดิม  ซึ่งนิวตันได้สร้างกล้องโทรทัศน์ขนานยาว 6 นิ้ว  ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางของกระจกเว้า 1 นิ้ว และกำลังขยาย 40 เท่าได้สำเร็จ  ซึ่งกล้องโทรทัศน์ของนิวตันได้กลายต้นแบบ  ที่ต่อมา..ได้ถูกพัฒนาเป็นกล้องโทรทัศน์ขนิดหักเหแสงในปัจจุบันนี้  เช่น  กล้องพาราโบลา (Parabolar) ขนาดเส่้นผ่าศูนย์กลาง 200 นิ้ว ของหอดูดาว California Institute of Technology บนยอดเขาพาโลมาร์ (Mount Palomar) ในแคลิฟอร์เนีย เป็นต้น

หลังจากประสบความสำเร็จในการค้นคว้าเกี่ยวกับแสงอาทิตย์แล้ว  ในปี ค.ศ.1667  นิวตันได้รับเชิญเป็นอาจารย์สอนวิชาคณิตศาสตร์แคลคูลัสที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์  และได้รับการแต่งตั้งเป็นราชบัณฑิตในปี ค.ศ.1672  และเป็นประธานราชสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งลอนดอน (Royal Society) ในปี ค.ศ.1703 และเขายังได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการโรงกษาปณ์ในปี 1699 ด้วย  แต่ถึงกระนั้น..ฐานะของนิวตันก็ไม่ได้ร่ำรวยขึ้น..อย่างที่คนทั่วๆไปคิด  เพราะเขาได้ใช้จ่าย..รายได้ส่วนใหญ่..หมดเปลืองไปในการศึกษาและทดลองทางวิทยาศาสตร์อยู่ตลอดเวลา

ภาพ  ต้นฉบับหนังสือ " Principia " ของนิวตัน ในปี ค.ศ.1667

ผลงานชิ้นที่สาม  นิวตันได้ค้นพบกฎแรงโน้มถ่วง (Law of Gravitation) คือ ในคืนวันหนึ่ง..ที่จันทร์เต็มดวง  และท้องโปล่งสวยงามมาก  นิวตันกำลังนั่งชมจันทร์อยู่.,และครุ่นคิดไปด้วยว่า..เหตุใดหนอ ?  ดวงจันทร์จึงต้องหมุนรอบโลกด้วย  ในทันใด  เขาก็ได้ยินเสียงลูกแอ็ปเปิลตกลงสู่พื้นดิน..จึงเกิดคำถามในใจขึ้นว่า..ทำไม ?  แอ็ปเปิลจึงไม่ลอยขึ้นข้างบนบ้าง ?  และแรงใด..? ที่กระทำให้ลูกแอ็ปเปิลตกลงพื้น ดังนั้น  นิวตันจึงเริ่มทดลอง..โดยเอาก้อนหินเล็กๆผูกไว้ที่ปลายเชือกข้างหนึ่ง  ส่วนอีกปลายหนึ่งใช้มือจับไว้..แล้วแกว่งโดยแรง  ปรากฏว่าก้อนหินนั้นหมุนไปได้รอบๆตัวของเขา..โดยไม่หลุดลอยไป  จากการทดลองนี้เอง  ที่ทำให้เขาได้ความคิดว่า..ที่ก้อนหินไม่หลุดลอยออกไป..ก็เพราะแรงดึงที่ปลายเชือกนั่นเอง  ดังนั้น  เขาจึงสรุปได้ว่า..เหตุที่ลูกแอ็ปเปิลตกลงสุ่พื้นดิน..ก็เนื่องจากแรงดึงดูดของโลก  ซึ่งเป็นแรงเดียวกันที่ " ดึง " ดวงจันทร์เอาไว้ให้โคจรรอบโลกเป็นวงรี  และอธิบายอีกว่า..วัตถุต่างๆในเอกภพต่างก็มีแรงดึงดูดซึ่งกันและกัน  โดยแนวคิดนี้..มีผลคำนวณที่ยืนยันให้สมบูรณ์ขึ้น  เมื่อ..นิวตันได้เขียนจดหมายโต้ตอบกับโรเบิรต์ ฮุก และจากกฎนี้เอง..ที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นหลัง..ใช้เป็นหลักการในการคำนวณการยิงจรวดออกไปนอกโลกได้ (คือ หากต้องการให้จรวดหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของโลก..ไปสู่อวกาศได้  ต้องเพิ่มความเร็วจรวดเป็น 15 กม./วินาที ) นอกจากนี้..นิวตันยังค้นพบกฎของการเคลื่อนที่ (Laws of Motion) อีกด้วย  และตีพิมพ์หนังสือจำนวน 3 เล่มที่ชื่อว่า " Principia " หรือ (Philosophiae Naturalis Principia Mathematica) ในปี ค.ศ. 1666-1667 ซึ่งถือว่าเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของวงการวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์..จนถึงปัจจุบัน

ด้วยความสามารถและความดีของนิวตันที่อุทิศตน..เพื่อวงการวิทยาศาสตร์มาอย่างสม่ำเสมอ  สมเด็จพระนางเจ้าแอนน์ (Queen Anne) แห่งอังกฤษได้พระราชทางยศชั้นอัศวิน (Knight) ในตำแหน่งท่านเซอร์ (Sir) แก่นิวตั้นในปี ค.ศ.1705  และในปั้นปลายชีวิต  นิวตันอยู่ในการดูแลของหลานสาว   โดยที่เขาอยู่เป็นโสด..และไม่ได้แต่งงานเลย   กระทั้ง..วันที่ 20 มีนาคม ค.ศ.1727  นิวตันก็ถึงแก่กรรมลงอย่างสงบ  ด้วยอายุ 85 ปี  ซึ่งรัฐบาลอังกฤษได้ยกย่องเกียรติของเขา..โดยนำร่างของเขาไปฝังไว้ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ (Westminster Abbey)

วาทะกรรม : " ถ้าหากว่าข้าฯ  เห็นได้ไกลกว่าใคร  นั่นก็เป็นเพราะข้าฯ ได้อาศัยที่ยืนอยู่บนไหล่ของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลาย "

ติดตามผ่าน FACEBOOK

Video Of Week : เส้นทางนักบุกเบิก สตีฟ จ๊อบส์

Live Currency Cross Rates


The Forex Quotes are powered by Investing.com.

ไขปริศนาคดีฆาตกรต่อเนื่องโดย นักฆ่าโซดิแอค

โพสต์แนะนำ

Anton Van Leeuwenhoeh : ลีเวนฮุ๊ค (ค.ศ.1632-1723)

Anton Van Leeuwenhoeh : ลีเวนฮุ๊ค  นักชีววิทยาชาวดัชท์  ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น " บิดาแห่งจุลชีววิทยาการ " ( the Father of M...

บทความที่ได้รับความนิยม

Kategori

สนับสนุนเว็บไซด์

หนังคาวบอยดี.. ดูฟรี ออนไลน์

Kategori