คุณรู้ไหมว่า...ใครเป็นใคร..? บนโลกใบนี้

คุณรู้ไหมว่า...ใครเป็นใคร..? บนโลกใบนี้

Polo, Marco : มาร์โค โปโล (ค.ศ.1254-1324)


Polo, Marco : มาร์โค  โปโล ชาวเมืองเวนิส  พ่อค้านักเดินเรือ  และนักสำรวจชาวอิตาลี  ผู้ได้ชื่อว่าเป็นชาวยุโรปคนแรกๆที่ออกเดินทางสำรวจลึกเข้าไปในทวีปเอเซีย  โดยเขาได้เดินทางไปประเทศจีนกับพ่อและลุงซึ่งมีความสัมพันธการค้ากับจักรวรรดิตาร์ตาร์ (Tartar Empire)  ซึ่งตั้งอยู่ในเอเซียกลางคลุมไปจนถึงยุโรปตะวันออก  โดยโปโลได้เดินทางไปตามเส้นทางสายไหม...จนได้มาเยือนราชสำนักของพระเจ้ากุลไลข่าน (Kublai Khan) จักรพรรดิชาวมองโกล  ในปี ค.ศ.1275 และทำให้โปโลมีโอกาสพำนักอยู่ในจีนนานถึง 17 ปี  

ว่ากันว่า...  โปโลได้รับความไว้วางพระทัยจากพระเจ้ากุบไลข่านเป็นอย่างมาก  จนเขาได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจอันสำคัญหลายๆอย่าง  เช่น  การได้เป็นทูตแทนพระเจ้ากุลไขข่าน และเป็นผู้ติดต่อการค้ากับอาณาจักรต่างๆ  เช่น  เมืองยูนาน  เมืองหางโจว  จนถึงประเทศพม่า ฯลฯ  และด้วยการทำงานเช่นนี้...ทำให้มาร์โค  โปโล  ได้รู้ได้เห็นและทราบเรื่องราวต่างๆของจีนในสมัยนั้นอย่างมากมาย

อีกทั้ง  โปโลยังได้รับเอกสิทธิ์เกี่ยวกับการค้าเกลือ  และเป็นเจ้าเมืองหยางโจว  และมีบทบาทสำคัญในการยึดครองของมองโกลเหนือเมือง Saianfu อีกด้วย

ภาพ แผนที่ Fra Mauro map ในปี ค.ศ.1450

จนเมื่อ...ในปี ค.ศ.1295  เขาได้เดินทางกลับจากจีน...ด้วยเส้นทางตะวันออกไปเปอร์เซีย...แล้วขึ้นบกเดินทางผ่านตรุกี  อิตาลี  และเมื่อมาถึงเวนิส  โปโลได้เขียนหนังสือบันทึกการเดินทางของเขาที่เต็มไปด้วยเรื่องราวแปลกๆมากมาย  ซึ่งเป็นที่นิยมอ่านกันมากในยุโรป  ในสมัยนั้น  และทำให้ชาวยุโรปเริ่มมีความสนใจแผ่นดินจีนและประเทศตะวันออกเพิ่มมากขึ้น

ในวัย 69 ปีค.ศ.1866  บนเตียงนอนก่อนที่โปโลจะเสียชีวิต  เขาได้พูดออกมาซึ่งมีบันทึกเอาไว้ว่า... " ข้าไม่ได้เล่าเรื่องราวอีกครึ่งหนึ่งที่ข้าได้พบเห็นมา  ให้ใครฟัง  เพราะว่า  ข้ารู้ดีว่ามันคงจะไม่มีใครเชื่อ "( I did not tell half of what I saw, because I knew I would not be believed )

Ibn Taymiyyah : (ค.ศ.1236-1328)


Ibn Taymiyyah นักปราชญ์  นักวิชาการอิสลาม  เกิดทางตอนเหนือของซีเรีย  และมีชีวิตอยู่ในช่วงการรุกรานของชาวมองโกล (ค.ศ.1206–1337)  เขาได้รับการศึกษาที่เมืองดามัสกัสและใช้ชีวิตส่วนใหญ่ระหว่างเมืองดามัสกัสกับไคโร  เขาคัดค้านการตีความพระคัมภีร์อัลกุรอ่านอย่างผิวเผิน  และเสนอให้อิสลามมิกชนศึกษาพระคัมภีร์อย่างเคร่งครัด  ส่วนตัวเขานับถือสายนิกายฮัมบาลี : Hanbalis (หลักคำสอนนิติศาสตร์อิสลาม  แบบอนุรักษ์นิยม โดยการพิจารณาอย่างเข้มงวดเกี่ยวกับความเชื่อและพฤติกรรมของบุคคล) และยืนยันแบบไม่ประนีประนอมถึงหลักการต่างๆของความจริงที่ได้รับการเปิดเผย (โดยพระผู้เป็นเจ้า) แต่กระนั้น...Taymiyyah ก็มีความใจกว้างต่อความหลากหลายทางทัศนคติภายในชุมชนและด้วยการกล้าพูด  กล้าวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมาของ Taymiyyah ทำให้กลุ่มผู้มีอำนาจทางศาสนาขุ่นเคืองและจับเขาขังคุกอยู่หลายครั้ง  แต่เขาก็มีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก  และมีอิทธิพลทางความคิดต่อมาให้กับกลุ่มถือศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัด

ในปี ค.ศ.1326 Taymiyyah ถูกตัดสินจำคุกอีกครั้ง  ซึ่งอีกสองปีต่อมา...เขาได้เสียชีวิตภายในคุกอย่างสูญสิ้นซึ่งอิสรภาพ  และร่างของเขาถูกนำไปฝังใน Sufi สุสานในดามัสกัส  และในปัจจุบันยังมีผู้เดินทางไปเยี่ยมชมหลุมฝังศพของเขาอย่างมากมาย  

St. Thomas Aquinas : เซนต์ โทมัส อไควนาส (ค.ศ.1226-1274)


St. Thomas Aquinas : เซนต์ โทมัส อไควนาส  นักปรัชญาและนักบวช (คณะโดมินิกัน)ชาวอิตาลี  ผู้เป็นนักเทววิทยาคนสำคัญในประเพณีลัทธิอัสมาจารย์ที่รู้จักกันในนาม Doctor Angelicus (คุรุทูตสวรรค์) ผู้ศึกษาและเป็นผู้สอนวิชาเทววิทยาในมหาลัยปารีสและโรม  ในยุคสมัยที่แนวคิดแบบอริสโตเติล (กรีก) และอาหรับกำลังเข้ามามีอิทธิพลในอิตาลีและท้าท้ายความเชื่อของชาวคริสต์ในยุปโรป

งานเขียนสำคัญ  ในหนังสือเรื่อง Summa Contra (ค.ศ.1259-1264) ของเขาเสนอว่า  เหตุผลและศรัทธาเป็นสิ่งที่ไปด้วยกันได้  และหนังสือ Summa Theologica แปลว่า สาระโดยสังเขปของเทววิทยา(ค.ศ.1226-1273) ซึ่งอไควนาสเขียนไม่จบเป็นเรื่องเกี่ยวกับธรรมชาติของพระเจ้า, ศีลธรรมและงานของพระเยซูคริสต์  โดยงานเขียนของเขาได้รับอิทธิพลแนวคิดทางวิทยาศาสตร์จากอริสโตเติล  ซึ่งมีอิทธิพลต่อโลกทัศน์ของนักศึกษาและหลายๆมหาวิทยาลัยในตะวันตก  จนกระทั้งถึงกลางศตวรรษที่ 17 ในปี ค.ศ.1879 พระสันตะปาปา Leo ที่ 13 ได้ตรวจทานและพิมพ์งานของอไควนาสใหม่  และใช้เป็นพื้นฐานของเทววิทยาแบบคาทอลิก  และในภายหลัง...พระสันตะปาปาเบเนอดิคท์ ที่ 15 ได้ประกาศว่า " คำสอนของอไควนาสเป็นคำสอนของคริสตจักรเอง "

ภาพ ชัยชนะของ โทมัส อไควนาส วาดโดย Bonaiuto

ในแง่ปรัชญาทางการเมือง  อไควนาสเห็นว่ารัฐบาลควรขึ้นอยู่กับกฎหมายและถูกชี้นำโดยศีลธรรม  ดังนั้น  การปกครองจะต้องมีหลักการที่สอดคล้องกับกฎธรรมชาติ  เช่น  การที่มนุษย์ต้องพึ่งพาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  ไม่ทำร้ายกัน  ถ้าหากการปกครองขัดแย้งกับกฎธรรมชาติ  ประชาชนก็มีสิทธิที่จะปฏิเสธผู้ปกครองได้  เป็นต้น

วาทกรรม : " กฎที่มนุษย์สร้างขึ้น  จะเป็นกฎหมายก็ต่อเมื่อมันสอดคล้องกับเหุตผลที่ถูกต้อง  และด้วยวิธีนี้  ก็เป็นที่เห็นได้ชัดว่า  มันหลั่งไหลมาจากกฎธรรมชาติที่ถูกต้องและเป็นนิรันดร์ "

Bacon, Roger : โรเจอร์ เบคอน (ค.ศ.1220-1292)


Bacon, Roger : โรเจอร์ เบคอน นักปรัชญา  นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ  ผู้มีดีกรีการศึกษาปริญญาเอกทางเทววิทยา  และเป็นอาจารย์ในมหาลัยออกซ์ฟอร์ดและปรารีส  ผู้เสนอทฤษฎีเกี่ยวกับการแสวงหาความรู้โดยวิธีการทดลอง หรือที่เรียกว่า " วิทยาศาสตร์ประสบการณ์ " (Science of Experiment) และได้รับการนับถือว่าเป็นผู้บุกเบิกวิทยาศาสตร์สมัยใหม่

เบคอนเป็นคนหัวก้าวหน้ากว่าในยุคสมัยของตน (ในช่วงเวลาที่ศาสนจักรมีอำนาจมากและครอบงำทางคิดของคนทั่วไป) และแม้ว่า...เบคอนจะเป็นภิกขาจาร คณะฟรานซิสกัน  เขาก็ยังได้ศึกษาภาษากรีก  ฮีบรูว์และอาหรับ  เพื่อค้นคว้าในพระคัมภีร์ต่างๆจนแตกฉาน  และสนใจในวิทยาศาสตร์ธรรมชาติอย่างมาก  ดังนั้น  เขาจึงเป็นคนแรกๆที่พยายามอธิบายเทววิทยาและศาสนาด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์  โดยเขากล่าวว่า...ปัญญากับความเชื่อ/ศรัทธาเป็นสิ่งเดียวกัน  ด้วยเหตุนี้  เขาจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นคนนอกรีตและดูหมิ่นศาสนา  จนเป็นเหตุให้ถูกศาสนจักรตัดสินจำคุกนานถึง 14 ปี

ภาพ สำเนาทฤษฎีการใช้เลนส์ซ้อนกันของเบคอน

เบคอนเขียนหนังสือไว้มากมาย  แต่งานเขียนที่สำคัญ คือ งานที่เขียนถวายพระสันตะปาปาเคลเมินท์ที่ 4 (ในปี1267-68) ที่ชื่อ  เรื่องงานชิ้นใหญ่ (Opus majus หรือ Greater Work), งานชิ้นเล็ก (Opus minor หรือ Lesser Work) และงานชิ้นกลาง (Opus tertium หรือ Third Work)  ซึ่งเป็นการวางแนวทางใหม่ในการศึกษาวิชาปรัชญาที่รวมเอาการศึกษาทางภาษาศาสตร์และวิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน  และงานเขียนอื่นๆ เช่น  ปรัชญาธรรมชาติ (Communium naturalium) ที่ถือเป็นงานเขียนที่ดีที่สุดของเขาด้วย

ในหนังสือ Opus tertium เบคอนได้เขียนไว้ว่า " วิทยาศาสตร์ทุกสาขาจะต้องมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันทั้งนั้น  และต่างก็ให้สาระสำคัญต่อส่วนรวม  วิทยาศาสตร์แต่ละสาขา  ต่างก็ดำเนินไปตามขอบเขตของธรรมชาติ  และไม่มีวิทยาศาสตร์สาขาใดที่จะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดได้เลย  และเป็นที่รวมแห่งความรู้ของธรรมชาติโดยสมบูรณ์ " และเบคอนยังได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาวิทยาศษสตร์ไว้ว่า " สิ่งที่เป็นรากฐานในการศึกษาวิทยาศาสตร์ ก็คือ การทดลอง  และความรู้ทางคณิตศาสตร์  ถ้าปราศจากทั้ง 2 อย่างนี้แล้ว  ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะเจริญขึ้นไม่ได้ "

เบคอนยังได้รับการยกย่องว่าเป็นนักประดิษฐ์ด้วย  เช่นการทำแว่นขยาย  โดยการใช้เลนส์ซ้อนกัน  ซึ่งเบคอนเป็นผู้ที่เริ่มใช้กล้องโทรทัศน์ก่อนกาลิเลโอ  เขายังประดิษฐ์แว่นสายตาให้แก่ผู้ที่มีสายตายาว,  ค้นคว้าสูตรผสมดินปืน,  ค้นพบก๊าซไฮโดเจนจากการละลายในกรด,  คิดค้นเรื่องบอลลูน,  และกลไกที่ช่วยให้มนุษย์บินได้  และเขายังสนับสนุนในทฤษฎีเรื่องโลกกลม  และเสนอว่ามนุษย์เราสามารถเดินเรือรอบโลกได้  แต่กระนั้น...ความคิดของเบคอนก็ไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควรจากคนในยุคสมัยเดียวกัน แต่ในเวลาต่อมา  แนวคิดของเขามีได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์  กล้องส่องทางไกล  เครื่องจักรไอน้ำ  เครื่องบิน  ในยุคต่อๆมา

Kublai Khan : กุบไลข่าน (ค.ศ.1215-1294)


Kublai Khan : กุบไลข่าน หลานของเจงกิสข่าน หรือ  จักรพรรดิ์จูหวางตี้  ผู้ซึ่งพิชิตแผ่นดินจีนได้ทั้งหมดเป็นจักรพรรดิ์ชาวมองโกล  ผู้สถาปนาราชวงศ์หยวนในปี ค.ศ.1260  โดยการเอาชนะราชวงศ์ซ่งของจีน  และยึดครองเมืองเป่ยจิ่ง (ปักกิ่ง) และตั้งขึ้นเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิ  โดยขนานนามเสียใหม่ว่า " ต้าตู " หรือมหานคร  โดยกุบไลข่านทรงตั้งพระทัยที่จะเป็น " โอรสสวรรค์ " หรือเทียนจื่อ  และพยายามทำทุกอย่างที่จะให้ชาวจีนยอมรับพระองค์ในฐานะ " ผู้ปกครองสรรพสิ่งภายใต้สวรรค์ "  ดังนั้น  ชาวมองโกลจึงต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการปรับตัวจากนักรบเร่รอนมาเป็นชาวเมือง  ทั้งในวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน  แต่ก็ไม่อาจเข้ากับชาวฮั่นได้

กุบไลข่านได้เชิญนักปราชญ์ลัทธิขงจื้อให้เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน  จนประสบความสำเร็จในการรวบรวมและพัฒนาจักรวรรดิจีนให้มีความเจริญรุ่งเรืองสูง  โดยกุบไลข่านให้ความสนพระทัยในเรื่องเกษตรกรรม  ซึ่งเป็นแกนชีวิตของชาวจีนทั่วทั้งอาณาจักร  และพระองค์ได้วางมาตรการต่างๆ  เพื่อส่งเสริมความเจริญเติบโตของเกษตรกรรมด้วย  และยังให้ความสำคัญในทางเศรษฐกิจและการเมือง  อีกทั้งให้ความสนใจในด้านการคมนาคมและการขนส่ง  มีการสร้างสถานีไปรษณีย์และการส่งสารทางไปรษณีย์ตามถนนต่างๆทั้งทั้งอาณาจักรด้วย  ด้วยเหตุนี้  อาณาจักรจงกั๋วจึงสามารถแผ่ขยายอำนาจจากปักกิ่งไปจรดทะเลดำทางทิศตะวันตก (เปอร์เซียและรัสเซีย)

ภาพ  อาณาจักรจงกั๋ว (สีเขียว) ของกุบไลข่าน  ค.ศ.1294

ต่อมาในปี ค.ศ. 1252 เมื่อชาวมองโกลเข้าไปในธิเบต  กุบไลข่านได้มีความเลื่อมใสพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก  พระองค์ทรงรับเอาพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำจักรวรรดิ  และทรงอุปถัมภ์ศิลปวิทยาการต่างๆด้วย  มาร์โค  โปโล  พ่อค้านักเดินเรืองชาวอิตาลีเล่าว่าเขาได้พำนักในราชสำนักของกุบไลข่านนานถึง 17 ปี  และได้เขียนบันทึกถึงความยิ่งใหญ่ของจีนที่ทำให้โลกตะวันตกสนใจในแผ่นดินจีนมากขึ้น

เมื่อกุบไลข่านสิ้นพระชนม์  ราชวงศ์หยวนปกครองอาณาจักรจีนต่อมาอีกเป็นเวลา 109 ปี    โดยมีกษัตริย์มองโกลขึ้นสืบต่อราชบัลลังก์ทั้งสิ้น 11 พระองค์  แต่ด้วยเหตุที่ไม่มีประเพณีหรือกฎมณเฑียรบาลกำหนดเรื่องการสืบตำแหน่งข่านหรือกษัตริย์มองโกล  จึงมีปัญหาในเรื่องการแย้งชิงราชบัลลังก์ที่มักตัดสินกันด้วยดาบอยู่เสมอ  ดังนั้น  ราชวงศ์หยวนจึงสูญสิ้นไปในที่สุด

Rumi, Salal AI-Din AI : รูมี (ประมาณ 1207-1273)


Rumi, Salal AI-Din AI : รูมี กวีชาวเปอร์เซีย  นักปรัชญา  นักกฎหมาย  นักรหัสนัย  ธรรมจารย์ทางจิตวิญญาณ  และผู้มีอัฉริยภาพในทางกวีนิพนธ์  เขาก่อตั้งนิกายเมาฬาวี  อันเป็นลัทธิซูฟี Sufism สายหนึ่ง  ซึ่งเป็นมุสลิมนอกกระแสหลักของศาสนาอิสลาม ที่เน้นทางภาวนา เพื่อเข้าถึงรหัสยนัยหรือความเร้นลับในสิ่งมหัศจรรย์  คือ  เข้าถึงองค์พระผู้เป็นเจ้า  

รูมีสอนที่โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามและเขียนบทกวีที่เกี่ยวกับความรัก  ชีวิตและธรรมชาติที่เป็นที่นิยมอ่าน  รวมทั้งการอ่านออกเสียงและการเต้นรำแบบหมุนตัวตามคติซูฟี  ซึ่งมีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของชาวตุรกีสืบมาจนถึงปัจจุบัน  ผลงานเขียนของรูมีได้รับปารแปลเป็นภาษาอังกฤษและเป็นที่นิยมอ่านในโลกของคนใช้ภาษาอังกฤษด้วย

วรรณกรรมสำคัญของรูมี  ได้แก่  Masnawi Man’nawi (มัษนาวี)  Diwan Shams Tabrizi (กวีนิพนธ์แห่งชัมส์  ตับริซี)  และ  Fih Ma Fih รวมงานร้อยแก้วอีกกว่า ๗๑ ชิ้น โดยรูมีได้สรุปงานแห่งชีวิตของตัวเองไว้ดังนี้

                              ผลิตผลแห่งชีวิตของข้ามิได้มีมากกว่าสามบรรทัดนี้

                              ข้าเป็นวัตถุดิบ

                              ข้าถูกปรุงสุก

                              ข้าลุกไหม้ด้วยความรัก

ภาพ รูมีและหลุมฝังศพของเขา  บนธนบัตรใบละ 5,000 ของตุรกี

เมื่อรูมีถึงแก่กรรมวันอาทิตย์ที่  ๑๗  ธันวาคม  ๑๒๗๓  ในเวลาอาทิตย์อัสดงในเมืองโคเนีย  ชาวเมือง  ไม่ว่ามุสลิม  ยิวและคริสเตียน  คนจน คนรวย  ผู้คงแก่เรียน  ผู้ไม่รู้หนังสือ  ต่างมาร่วมงานศพเขาและคร่ำครวญอาลัย    อะห์มัด  อัฟลากี  (Ahmad Aflaki, ? - ๑๓๕๙)  ผู้เป็นสาวกจดจารไว้ว่าผู้คลั่งศาสนาบางคนคัดค้านต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งมาร่วมงานศพของรูมี  แต่ชาวยิวและคริสเตียนกล่าวว่า...หากเพื่อนชาวมุสลิมเข้าถึงพระศาสดามุฮัมมัดผ่านรูมีฉันใด  พวกเขาก็เข้าถึงโมเสสและพระเยซูผ่านรูมีได้ ฉันนั้น  ฉะนั้น  บางทีกวีนิพนธ์ของรูมีอาจนับเป็นวิสัยทัศน์แห่งการรู้แจ้งและเป็นเสียงแห่งความเป็นหนึ่งเดียวกันสำหรับโลกที่แบ่งแยกและศตวรรษแห่งความรุนแรงนี้

                             ข้าเป็นดวงเดือนทุกแห่งหนและมิเป็นของที่ใด

                             อย่าแสวงหาข้าจากภายนอก  ข้าสถิตอยู่ในชีวิตของเจ้าเอง

                             ใครใครเรียกเจ้าออกไปหาตัวเขา  ข้าเชิญเจ้าเข้ามาหาตัวเอง

                             กวีนิพนธ์เป็นดุจเรือและความหมายของมันเป็นดั่งทะเล

                             รีบมาลงเรือเถิด  ปล่อยให้ข้าแล่นเรือลำนี้ !

Francis of Assisi, Saint : เซนต์ฟรานซิลแห่งอัสซีซี (ค.ศ.1181-226)


Francis of Assisi, Saint : เซนต์ฟรานซิลแห่งอัสซีซี นักบวชชาวอิตาลีผู้ก่อตั้งคณะฟรานซิสกัน (Franciscan) ผู้ซึ่งดำเนินตามรอยพระเยซู  ด้วยการใช้ชีวิตอย่างสมถะ  เรียบง่ายและเปี่ยมด้วยความศรัทธา  เซนต์ฟรานซิลมีสานุศิษย์จำนวนมากมาย  ซึ่งท่านได้ส่งออกไปเผยแพร่ศาสนาทั่วยุโรป  รวมทั้งในอียิปต์และเยรูซาเล็มด้วย  และคณะฟรานซิสกันได้มีอิทธิพลในการช่วยฟื้นฟูศรัทธาของมหาชนชาวยุโรปต่อศาสนาคริสต์  ซึ่งในขณะนั้นกำลังเริ่มเสื่อมความนิยมลงอย่างมาก  อันเนื่องจากการฉ้อฉลและความทะเยอทะยานในอำนาจของคริสตศาสนจักร

ในสงครามครูเสดครั้งที่ 5 พระสันตะปาปา อินโนเซนต์ ที่ 3 ต้องการยึดคืนดินแดนศักดิ์สิทธิ์ (เยรูซาเล็ม) ให้กลับมาเป็นของชาวคริสต์อีกครั้ง  เพื่อต้องการจะจัดระเบียบอำนาจในยุโรปเสียใหม่ให้อยูภายใต้ศาสนจักรโดยสมบูรณ์  ซึ่งต่อมา...ได้รับการสานต่อพันธกิจโดยพระสันตะปาปา โฮโนริอุส ที่ 3 (Honorius III) ดังนั้น ในปี ค.ศ.1218  ชาวคริสต์จึงส่งกองทัพไปยึดครองแผ่นดินอียิปต์จาก สุลต่าน อัล-คามิล (Al-Kamil) ซึ่งปกครองอียิปต์ในเวลานั้น  โดยกองทัพของชาวคริสต์ต้องเสียหายอย่างหนักและมีคนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก  จนนำไปสู่การทำสัญญาสงบศึกเป็นระยะเวลา 8 ปี โดยมี ฟรานซิส แห่งอัสซีซีเป็นทูตสันถวไมตรี

ภาพ พระสันตะปาปาทรงอนุมัติกฎเกฑณ์ของคระฟรานซิสกัน วาดโดย Giotto

กล่าวกันว่า....ในครั้งนั้น  สุลต่าน อัล-คามิล ได้ประกาศไปทั่วว่า...ถ้าหากผู้ใดสามารถนำเอาศีรษะของชาวคริสต์  ตั้งแต่อาเซียไมเนอร์ไปจนจรดอียปต์มาวางไว้ต่อหน้าได้ 1 หัว ผู้นั้นจะได้ค่าหัวเท่ากับทองคำหนึ่งก้อน  ด้วยเหตุนี้  จึงทำให้ชาวคริสต์ถูกเข่มฆ่าและต้องล้มตายลงเป็นผักปลา  ดังนั้น เซนต์ฟรานซิลแห่งอัสซีซี  จึงได้ยอมเสี่ยงอันตรายเข้าไปขอเจรจากับ สุลต่านอัล-คามิล  แต่กว่า...ท่านจะได้พบกับ อัล-คามิล  ท่านและผู้ติดตามก็ต้องถูกโบยตีถูกทรมานเสียจนเกือบตาย  แต่...เซนต์ฟรานซิลแห่งอัสซีซีก็ไม่ได้ละทิ้งความตั้งใจ  ซึ่งผลที่สุด สุลต่าน อัล-คามิล ก็เห็นแก่ความพยายามและน้ำอดน้ำทนของท่าน  จึงยินยอมทำสัญญาสงบศึกด้วย  ด้วยเหตุนี้เอง  เซนต์ฟรานซิลแห่งอัสซีซี จึงได้กลายเป็นศูนย์รวมกำลังใจของชาวคริสต์ในสงครามครูเสดครั้งนี้...เป็นอย่างมาก  และได้รับการยกย่องให้เป็นนักบุญ ในปีค.ศ. 1228

Ibn Arabi : อิบัน อลาบิน (ประมาณ ค.ศ.1165-1240)


Ibn  Arabi : อิบัน อลาบิน นักปราชญ์  กวี  ศาสนาจารย์ชาวอารับ  เขาเกิดในสเปนอันดาลูเซียในยุคที่วัฒนธรรมอิสลามกำลังรุ่งเรืองถึงที่สุด  อลาบินเป็นผู้ที่เรียนรู้ในศาสนาต่างๆอย่างแตกฉาน  ทั้งศาสนาอิสลามและศาสนาของโลกตะวันตกด้วย  เขาเดินทางไปทั่วประเทศสเปนและแอฟริกาเหนือ  และเคยอาศัยอยู่ที่เมกกะถึง 5 ปี  และเริ่มเขียนผลงานดีๆในตอนนั้น  และต่อมา...อลาบินได้ออกเดินทางเพื่อตามแสวงหาอาจารย์คดิซูฟี (Sufism) ผู้เป็นศาสนาจารย์ศาสนาอิสลามที่ลี้ลับ  และในภายหลัง...อลาบินได้ตั้งหลักแหล่งที่เมืองดามัสกัส  เพื่อศึกษา  ทำสมาธิ  สั่งสอนและเขียนหนังสือหลายๆเล่ม (800 กว่าเล่ม)  โดยหนังสือที่มีชื่อเสียงคือ Bezel or Wisdom ซึ่งเป็นหนังสือสรุปคำสอนของเขา (ในเรื่องบทบาทของผู้เผยพระวจนะและการเปิดเผยของพระเจ้าอันลี้ลับ) ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากในยุคสมันนั้น  และหนังสือชื่อ The Meccan Revelation ที่เป็นเสมือนสารานุกรมที่รวบรวมความรู้ต่างๆอย่างกว้างขวาง  และอิบัน อลาบินยังได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ทางจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลกอิสลามและเป็นนักบุญด้วย

หมายเหตุ : Sufism  หมายถึง  ผู้นับถือชาวมุสลิม  ที่เชื่อในแนวคิดของศาสนาอิสลาม  ในเรื่องความลี้ลับและความมหัศจรรย์ของพระเจ้า ที่สอนและกำหนดโดยนักวิชาการศาสนาอิสลามผู้ซ่อนเล้นและพบตัวได้ยาก โดยพวกผู้เชื่อยืนยันว่า...มันเป็นปรัชญาเริ่มต้นที่ดำรงอยู่มาก่อนศาสนา  ด้วยซ้ำ

และในวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี ค.ศ.1240  อิบัน อลาบิล ในวัย 75 ปี ได้เสียชีวิตในดามัสกัส

Genghis Khan : เจงกิสข่าน (ประมาณ ค.ศ.1162-1227)


Genghis Khan : เจงกิสข่าน ชื่อเดืมคือ " เตมูจิน " (Temujin)จักรพรรดินักรบ  ผู้นำชาวมองโกลและรวบรวมชนเผ่าเร่รอนต่างๆในเขตทุงหญ้าสเตปป์ (Strppe) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของมองโกเลียให้เป็นปึกแผ่นและเข้มแข็ง  และก่อตั้งจักรวรรดิมองโกลอันยิ่งใหญ่ ในปี ค.ศ.1206  เตมูจินได้รับการยกย่องให้เป็นเจงกิสข่าน ที่แปลว่า " เวิ้งสมุทร, มหาสมุทร " หมายถึง  เจงกิสข่านมีความยิ่งใหญ่ดั่งเวิ้งมหาสมุทรนั้นเอง

เจงกิสข่านได้ชื่อว่าเป็นกษัตริย์ยอดนักรบ  โดยเริ่มต้นจากจีนตอนเหนือ (หลังจากเข้ายึดปักกิ่ง)  พระองค์ก็ได้ขยายอาณาจักรมองโกลออกไปกว้างไกล  ตั้งแต่ทะเลดำไปจนจรดมหาสมุทรแปซิฟิก  อีกทั้งเปอร์เซียและรัสเซีย ฯลฯ โดยไม่มีใครสามารถต้านทานกองทัพของเจงกิสข่านได้เลย  ซึ่งเจงกิสข่านสามารถเข้ายึดครองเมืองต่างๆมากมาย  และเกือบทำให้ยุโรปพังพินาศทั้งทวีป  กองทัพของเจงกิสข่านเป็นที่สะพรึงกลัวเพราะ...มีกองกำลังทหารม้าที่เคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็ว  อีกทั้งยังใช้อุปกรณ์และยุทธวิธีใหม่ในการทำสงครามด้วย  เช่น  เครื่องยิงก้อนหิน  บันไดและเครื่องมือต่างๆ  รวททั้งยุทธวิธีในการเข้าปิดล้อมเมืองจนทำให้ขาดเสบียงและต้องยอมจำนนในท้ายที่สุด  ฯลฯ

ภาพ  จักรวรรดิมองโกล  ประมาณปี ค.ศ.1207

ปัจจุบัน  เจงกิสข่านได้รับการยกย่องว่าเป็นนักการทหารที่เก่งกาจที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์โลก  ซึ่งนักประวัติศาสตร์หลายๆคนเชื่อว่า...พระองค์ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งกว่า  อเล็กซานเดอร์, ฮันนิบาล, ซีซาร์, อัตติลา, หรือแม้แต่นโปเลียน  ด้วยซ้ำ

แต่หลังจากทำศึกอย่างยาวนานถึง 5 ปี ในเขตดินแดนเอเซียกลาง  เจงกิสข่านก็ตัดสินใจยกทัพกลับทุ่งหญ้าสเตปป์  และในปีถัดมา ค.ศ.1227  อาณาจักรซีเซี่ยก็ลุกฮือขึ้นต่อต่านชาวมองโกล  พระองค์จึงนำกองทัพออกรบเป็นครั้งสุดท้าย  และสวรรคตลงอย่างสงบ  ณ  มณฑลกานสูในปีเดียวกัน  รวมสิริพระชนมายุได้ 65 พรรษา  หลังสิ้นพระชนม์จักรวรรดิมองโกลก็ถูกแบ่งแยกในหมู่ลูกหลาน  รวมทั้งผู้สืบทอดคือ " กุบไล  ข่าน " (Kublai Khan) ด้วย

Richard I : พระเจ้าริชาร์ดที่ 1 (ค.ศ.1157-1199)


Richard I : พระเจ้าริชาร์ดที่ 1  หรือ ริชาร์ดใจสิงห์  โอรสของกษัตริย์เฮนรี ที่ 2 (Henry II of  England) แห่งราชวงศ์ " แพลนตาจิเนต์ " (Plantagenet) พระเจ้าริชาร์ดเป็นกษัตริย์นักรบชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงอย่างมากในสงครามครูเสดครั้งที่ 3 ซึ่งพระองค์ใช้ช่วงเวลาส่วนใหญ่ในพระชนม์ชีพนำกองทัพอังกฤษเข้าร่วมกับฝรั่งเศสและเยอรมัน เพื่อทำสงครามกับชาวมุสลิม  ซึ่งพระองค์สามารถยึดไซปรัส  เอเคอร์  และจาฟฟ่าได้  แต่ก็ไม่สามารถตีชิงเอานครเยรูซาเล็มกลับคืนมาจากชาวมุสลิมได้  ซึ่งในท้ายที่สุด  จบลงด้วยการเจรจาสงบศึกระหว่างชาวคิสต์และมุสลิม

โดยความตั้งใจตั้งแต่ต้น  ริชาร์ดที่ 1 ไม่ได้สนใจในตำแหน่งกษัตริย์อังกฤษมากนัก  พระองค์ต้องการออกไปผจญภัยมากกว่า  เพราะริชาร์ดรักในชีวิตอิสระและชอบการเดินทางท่องเที่ยว  ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้พระองค์ตัดสินใจยกกองทัพไปร่วมรบในสงครามครูเสด ครั้งที่ 3  โดยได้ทรงทิ้งหน้าที่การบริหารราชการแผ่นดินไว้ให้กับผู้สำเร็จอำนาจแทนพระองค์  คือ " บิชอป แห่งเดอร์แฮม " (Bishop of  Derham) กับเสนาบดีคนสนิทเป็นผู้ดูแลแทน  และด้วยสาเหตุนี้เอง  จึงทำให้ " จอห์น แห่งอังกฤษ " พระอนุชาเกิดความขัดเคืองใจอย่างมาก  และต่อมา จอห์นแห่งอังกฤษ  ได้กลายเป็นศัตรูที่คอยชิงยิงพระราชบัลลังก์อังกฤษเรื่อยมา

ภาพ ริชาร์ดใจสิงห์ขณะยกกองทัพไปทำสงครามที่ครูเสด 

ริชาร์ดที่ 1 เป็นกษัตริย์ที่ประชาชนชื่นชมในเรื่องความกล้าหาญ (แต่การทำสงครามของริชาร์ดได้ทำให้ทรัพย์สมบัติในท้องพระคลังต้องสิ้นเปลืองไปเป็นจำนวนมาก)  และเมื่อพระองค์กลับมาจากสงครามครูเสดและครอบครองบัลลังก์อยู่ได้ไม่นาน  ในปี ค.ศ.1199 พระองค์ก็ได้นำทัพออกศึกสงครามรวมกับ ฟิลลิปที่ 2 แห่งฝรั่งเศสอีกครั้ง  และริชาร์ดก็ต้องสิ้นพระชนม์ลงกลางสนามรบด้วยพิษบาดแผลจากลูกธูน  ซึ่งภายหลังการสิ้นพระชนม์ของริชาร์ด  ราชบัลลังก์อังกฤษก็ตกเป็นของจอห์นแห่งอังกฤษพระอนุชาอย่างสาสมใจ


Saladin : ซาลาดิน (ค.ศ.1137-1193)


Saladin : ซาลาดิน สุลตานชาวเคริด ผู้รวบรวมอียิปต์  ซีเรีย  เยเมน  ปาเลสไตน์เข้าด้วยกัน  ซาลาดินเป็นผู้ปกครองที่เด็ดขาดและทรงคุณธรรม  ที่นำชาวมุสลิมลุกขึ้นต่อสู่กับบรรดาอัศวินชาวยุโรปในช่วงสงครามครูเสด Crusades III ครั้งที่ 3 (1189-1192)  และสามารถขับไล่นักรบชาวคริสต์ออกไปจากเยรูซาเล็ม  ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของของชาวคริสต์มากว่า 88 ปี ได้สำเร็จ

หมายเหตุ : ที่ชาวมุสลิมต้องการจะเข้ายึดครองเยรูซาเล็มจากฝ่ายคริสต์ให้ได้นั้น  เพราะการยึดครองเยรูซาเล็มเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะทางศาสนา  และเพื่อเป็นการประกาศชัยเหนือนครเยรูซาเล็ม  ซาลาดินได้สั่งให้ทหารนำกางเขนใหญ่ที่ตั้งบนยอดโบสถ์และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆลงมาทำลาย  อีกทั้งยังปลดเอาระฆังในโบสถ์ของชาวคริสต์ทุกแห่งมาหลอมรวมกัน  ซึ่งสร้างความโกรธแค้นให้กับชาวคริสต์เป็นอย่างมาก

ภาพ อัศวินชาวคริสต์ในสงครามครูเสด

แม้ในสงครามครูเสดครั้งที่ 3 กองทัพฝ่ายคริสต์จะไม่สามารถเอาชนะฝ่ายมุสลิมได้ก็ตาม  แต่สงครามครูเสดครั้งนี้...ก็มีความโดดเด่นอย่างมาก  โดยเฉพาะในเรืองราวของซาลาดินและพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ ซึ่งยังเป็นที่เล่าขานต่อมาจนถึงปัจจุบัน  ที่ในท้ายที่สุด  สงครามจบลงด้วยการเจรจาสงบศึก   ระหว่างซาลาดินกับพระเจ้าริชาร์ดที่ 1 หรือริชาร์ดใจสิงห์ (Richard the Lion Heart) กษัตริย์แห่งอังกฤษ  โดยที่ฝ่ายชาวคริสต์ได้ครอบครองดินแดนเพียงส่วนเล็กๆ เท่านั้น

Ibn Rushd หรือ Averroes (ค.ศ.1126-1196)


Ibn Rushd หรือ Averroes นักปรัชญา  นักกฎหมายและนักวิทยาศาสตร์ชาวอาหรับในเสปน (กอร์โดบา,อัลดาลูเซีย : Cordoba, Andalusia เมืองในแคว้นทางตอนใต้ของเสปน)  Averroes เป็นผู้พิพากษาที่ยุติธรรม  และได้รับยกย่องว่าเป็นนักวิชาการกฎหมายอิสลามคนสำคัญ  ซึ่งเขาได้เขียนหนังสือไว้มากมายทั้งปรัชญา  กฎหมาย  เทววิทยา  วิทยาศาสตร์  และการแพทย์ของอิสลาม  อีกทั้งยังเขียนบทวิเคราะห์ปรัชญาของอริสโตเติล  เพลโต  ซึ่งแปลจากภาษากรีกเป็นภาษาอาหรับ  โดย Averroes ได้แปลงานเขียนของอนิสโตเติลเป็นภาษาละติน  และถือว่าเป็นการสืบต่องานเขียนอริสโตเติลในยุโรป  ซึ่งในตอนนั้นคริสต์ศาสนจักรที่มีอำนาจได้เลิกสนใจทฤษฎีและปรัชญากรีกแล้ว  และงานเขียนของ Averroes  เองก็มีผู้แปลเป็นภาษาฮิบูรและละติน  ในภายหลังด้วย

ภาพ  สำเนางานเขียนของ Averroes ใน Aristotelis เป็นภาษาฝรั่งเศส

Averroes เห็นด้วยกับปรัชญากรีกโบราณว่า...  ความจริงทางปรัชญาควรมาจากกระบวนการใช้เหตุผล (rationalism)  ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต่างจากนักคิดนักปรัชญาชาวคริสเตียน  เช่น  เซนต์  ธฮมัส  อะไควนัส  กลุ่มอัสสมาจารย์นิยม (Scholasticism)  และด้วยทัศนะแบบหัวก้าวหน้าของ Averroes  ได้ทำให้ศาสนจักรทั้งคริสต์และอิสลามไม่พอใจ  จนเขาต้องถูกเนรเทศออกจากเสปนไปช่วงหนึ่ง  อย่างไรก็ตาม  เขาก็ยังได้ชื่อว่าเป็นบิดาของแนวคิดแบบฆราวาสวิถี (Secular Thought) ของยุโรปตะวันตก  ซึ่งยุโรปในขณะนั้น...ที่ส่วนใหญ่ยังถูกครอบงำด้วยความเชื่อและแนวคิดทางศาสนาอยู่อย่างเหนียวแน่น  แต่กระนั้น...ปรัชญาของ Averroes ก็ถูกนำไปสอนมหาวิทยาลัยในยุโรปในยุคกลาง  และมีอิทธิพลต่อมาจนถึงศตวรรษที่ 16

Oma Khayyam : โอมาร์คัยยาม (ค.ศ.1048-1131)


Oma Khayyam : โอมาร์คัยยาม  กวี  นักคณิตศาสตร์  นักดาราศาสตร์ชาวเปอร์เซีย  ที่มีชื่อเสียงในยุคทองทางปัญญาของอิสลาม  ผู้เขียนตำราคณิตศาสตร์ (Explanations of the difficulties in the postulates in Euclid's Elements.)  และตำราพีชคณิต (Geometric algebra)  และอื่นๆ  แต่งานเขียนที่ทำให้คัยยามมีชื่อเสียงเรื่องลือ  คือ เรื่อง " รุไบยาต " : Rubaiyat (บทกวีเปอร์เซียชนิดหนึ่ง ในหนึ่งบทมีสี่บาท) ซึ่งมีอิทธิพลต่อนักกวีหลายๆคนในยุคต่อมา  และเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางหลังจาก Edward Fitzgerald ได้นำมาแปลเป็นภาษาอังกฤษในปี ค.ศ.1859 จนแพร่หลายไปทั่วโลก  แต่ในเปอร์เซีย (อิหร่าน) ไม่ค่อยได้รับการยกย่องเท่าที่ควร  เนื่องจากถูกนักการศาสนา..กล่าวหาว่าขัดแยงกับคำสอนทางศาสนา  เหตุเพราะ..กวีของคัยยามให้ความสำคัญในเรื่องความรัก  ความสุขสำราญ  และการร่ำสุรามากกว่าให้ความสำคัญในเรื่อง  ความดี  ความชั่ว  หรือคุณธรรม เป็นต้น

ตัวอย่างบทกลอน รุไยาต


        ตื่นขึ้นเถิดเพื่อรับแสงแห่งสูรย์ส่อง         เมื่อดาวล่องเดือนลับไปกลับฝัน
ขับราตรีหนีเตลิดเพื่อเปิดวัน                         เชิญร่วมกันฟังดนตรีแห่งชีวา

        ไปเสียเถิดเจ้าภูตพรายแห่งสายหมอก    ไม่ช้าหรอกเสียงร้านเหล้าเขาเรียกหา
"ประตูเปิดใยพวกเจ้าไม่เข้ามา                      มัวก้มหน้าหดหู่อยู่ทำไม"    

        เมื่อยามตายได้อะไรติดไปบ้าง              เพียงเรือนร่างฝังซากฝากสุสาน
ยังชีพอยู่ดูโลกไปให้สำราญ                         ดอกไม้บานในแก้วเหล้าเราเริงใจ

        ปากของเจ้าสงบนิ่งจริงจริงนะ               "เพื่อหัวใจชัยชนะ" มะ...เติมใหม่
ดื่มเถิดเพื่อเดิมเถิดเราดื่มเข้าไป                     เฉลิมโชคฉลองชัยได้ทุกวัน

         จำเพื่อลืมดื่มเพื่อเมาเหล้าเพื่อโลก        สุขเพื่อโศกหนาวเพื่อร้อนนอนเพื่อฝัน
ชีวิตนี้มีค่านักควรรักกัน                                รวมความฝันกับความจริงเป็นสิ่งเดียว

          ไม่ว่าเป็นนครใหญ่ไพศาลสุด              พระสมุทรพื้นสุธาภูผาเขียว
แต่ละหยดรสเหล้าหลั่งดุจดั่งเกลียว                จักโน้มเหนี่ยวนำโลกสู่โชคชัย  
           
           อย่าเชื่อโลกว่าโชคหนุนหรือบุญส่ง         จะเหมือนหงส์หลงเหินมัวเพลินหาว                   

เกิดบนดินอย่าถวิลดมกลิ่นดาว                            รักแต่ชาวดินเถิดเกิดจากใจ


        ดื่มเถิดเพื่อนดื่มแด่แม่ยอดรัก            เจ้าของตักและรอยบุ๋มนุ่มเหมือนไหม

เจ้าของแขนแอ่นอุ่นละมุนละไม                เจ้าของไฝเม็ดกลมสีชมพู


        ลืมลักยิ้มริมแก้มแก้วเสียแล้วหรือ     นั่นแหละคือสื่อฝันอันสวยหรู

อย่าลืมตาของน้องที่จ้องดู                       อย่าลืมหูของพี่ที่คอยฟัง


        จำได้ไหมในวันจันทร์ทรงกลด          ดาวทั้งหมดอันงดงามสิ้นความขลัง

มีเดือนเด่นเป็นเอกไร้เมฆบัง                     และเสียงสั่งเซ้าซี้จากพี่ชาย


        สุ้มเสียงสั่งพรรณาว่าชีวิต                 เมื่อครุ่นคิดก็หวนไห้แล้วใจหาย

อันบทบาทแต่ละฉากมีมากมาย                ฉากสุดท้ายปิดลงตรงสิ้นลม


        นี่แนะน้องมองพี่ให้ดีเถิด                   ได้กำเนิดมานี้ก็ดีถม
ชีวิตเหมือนเดือนทรงกลดกำหนดกลม      ต้องซานซมต่อไปใต้ดวงดาว

        ชีวิตนี้มีสองแพร่งแย้งกันอยู่              หนีหรือสู้คดหรือซื่อร้อนหรือหนาว
ไหวหรือนิ่งจริงหรือฝันสั้นหรือยาว            ดำหรือขาวดีหรือเลวเร็วหรือนาน

        แขนทั้งสองของพี่มีเลือดเนื้อ            เจ้าจงเชื่อเถิดว่าพี่กล้าหาญ
มันสมองของพี่มีสายพาน                         ที่จะผ่านไปผูกลูกโม่ใจ

        ก่อนจะดื่มอย่าลืมบุญคุณพระแม่       หยดหนึ่งแด่พสุธาที่อาศัย
เราก็ดื่มดินก็ดื่มปลื้มกันไป                        กตัญญูอยู่ในธรณี

        เพราะว่าพื้นพสุธาปกาศิต                 ให้ชีวิตแจ่มจรัสรัศมี
แผ่นดินย่อมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงอินทรีย์      เหตุฉะนี้แล้วไฉนไม่แทนคุณ

        จากฟากฟ้ามาถึงดินถิ่นมนุษย์         จากสมุทรถึงสุธาชีวาหมุน
เป็นวงเวียนเปลี่ยนภาพบาปและบุญ         นับเนื่องหนุนดั่งเดินทางไปกลางไพร

        ยังไม่ถึงบึงใหญ่ในป่าลึก                  อย่าเพิ่งนึกว่าน้ำนั้นมันจะใส
เพียงผิวนอกหลอกหลอนซ่อนภายใน      มหาภัยใหญ่ล้นอยู่ก้นบึง

        ลืมเสียเถิดความหลังฝังรากจิต        สลัดทิ้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่าคิดถึง
ลืมเสน่ห์เวลาหาวและดาวดึงส์                ฟังเสียงซึงเสียงซอส้อศรัทธา

        ในเพลงนั้นบรรยายถึงหายนะ             เศษชีวีที่ขรุขระอนาถา
เกิดกลางดินกินกลางทรายนอนปลายนา   ห่มผืนฟ้าอ้าแขนโอบแผ่นดิน

        น้ำตาหยดรดหญ้าขอบตาปริ่ม            ยังฝืนยิ้มเย้ยยั่วหัวใจหิน
นี่หรือโลกโชคโฉดโทษทมิฬ                     ให้เราดิ้นแดยันกันแทบตาย

        อยากจะด่าความอาภัพที่สับโขก       บ้างเศร้าโศกบ้างหัวร่อเสียงอหาย
คราวชอกช้ำน้ำตานองต้องฟูมฟาย           ยามสบายน้ำลายไหลนัยน์ตาวาว

        ได้ยินเพียงเสียงไชโยและโห่ร้อง       บ้างก็ป้องปากด่ากันฉ่าฉาว
ชีวิตหวานชีวิตขมผสมคาว                         มีเรื่องราวหลายแฉกแตกต่างกัน

        กุหลาบป่าอ่าโอ่โผล่กลีบอวด            มีราคาค่างวดตรงสีสัน
สะเก็ดหินดินทรายไม่สำคัญ                       หากเฉิดฉันอาจเห็นเป็นเพชรนิล

        เมื่อหม่นหมองจองมองรุ้งที่คุ้งโค้ง      ท้องฟ้าโล่งออกอย่างนี้ยังมีศิลป์
สลับรสสลดรักสลักต์จินต์                            ไม่ผิดพิณดิ้นดีดกรีดเสียงครวญ

        ลองมาดูคู่รักกันสักคู่                                ให้นั่งอยู่บนม้าไม้ที่ในสวน
เฝ้าพร่ำพรอดออดพรอดแอบแนบเนื้อนวล       ต่างปั่นป่วนป้อแป้แพ้แรงใจ

        สมมติว่าพระจันทร์นั้นกระจ่าง                แสงสว่างสร้างสรรค์อันไสว
แล้วหอมกลิ่นอันมีค่าจากมาลัย                     หวีดลองไนระงมป่ามาอวยพร

        ปัจจุบันทันใดให้ประหลาด       จันทรคราสจับเต็มคราบเป็นภาพหลอน
มืดมัวดินสิ้นดินฟ้าพนาดอน             เขาและหล่อนทำอย่างไรไม่พ้นกลัว

        สลับรักสลักพร่ำด้วยคำพ้อ       ปากเช่นนี้หากพี่ขอจะได้ไหม
แก้มพริ้มเพราเจ้าเก็บไว้ให้กับใคร     เพราะเหตุใดจึงหลบไม่สบตา

        ต่อจากนั้นพระจันทร์แจ่มแอร่มหรู     เพราะราหูคายจันทร์อันสลัว
ทั้งสองก็หัวร่อคิกระริกระรัว                       เริ่มยิ้มหัวเล่นจ้ำจี้พิรี้พิไร

        เงยขึ้นมองจ้องพี่นี้อีกครั้ง        เห็นหรือยังว่าพี่รักเจ้าหนักหนา
ไม่รู้โรยรู้ห่างรู้ร้างรา                         มาเถิดมามาเห่กล่อมด้วยอ้อมทรวง

        อยากอุทิษชีวิตรักนี้สักครั้ง      สมมุติดังของมีค่ามาบวงสรวง
แต่ไม่เชื่อความขลังเทพทั้งปวง      จึงต้องหวงห่วงประทับไว้กับเรา

        เก็บความชังขังความรักไว้สักครู่     หันมาดูเมรัยในเหยือกเผา
รสแปร่งปร่าซ่าซึมดื่มแล้วเมา                 พอดื่มเหล้าแล้วหันหน้ามาคุยกัน

        มีส่วนหนึ่งซึ่งสดใสในภาพพจน์      เทพกำหนดชื่ออีเด็นเป็นสวนขวัญ
มีผลหมากรากไม้ไว้ครบครัน                   แต่กระนั้นก็ดียังมีงู

        ในระหว่างเทพธิดากับซาตาน         เกิดเหตุการณ์อัปยศและอดสู
"แอปเปิลนี้ผลสีทองลองชิมดู                 แล้วจะรู้รสชาติอำนาจมัน"

        แอปเปิลบาปสาปสรรเกิดปัญหา      ก่อกำหนัดขัดบัญชาแห่งสวรรค์
ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมืองเกิดเรื่องกัน    ต่างพัวพันต่อไปในแผ่นดิน

เกลียดความรักรักความเกลียดอยากเหยียดหยาม    เฉกโซ่ล่ามอินทรีย์อย่างมีศิลป์     
เอ้า! อย่างงรีบส่งถ้วยจะช่วยริน                                หลังดื่มกินแล้วสังสรรค์กันอีกที

        ดูโน่นซีผีเสื้ออะเครื้ออะคร้าว         ปีกแพรวพราววาววับสลับสี
โฉบปีกว่อนร่อนปีกร่าเฉี่ยวมาลี              สัตว์ก็มีชีวิตไม่ผิดคน

        ในระหว่างนรกอันหมกไหม้            กับสวรรค์อันแจ่มใสในเวหน
มีสิ่งหนึ่งซึ่งซื่อตรงและคงทน                คือวงวนแห่งชีวิตอนิจจา

        ลองรำลึกนึกไปสมัยเด็ก                ตัวเล็กเล็กยังเริ่มรักเป็นหนักหนา
รักเผ่าพงศ์วงศ์วานรักมารดา                  รักตุ๊กตาอาหารและบ้านเรือน

        โตขึ้นหน่อยค่อยค่อยรู้ดูตัวอย่าง    รักแต่งร่างแต่งตัวกลัวฟั่นเฝือน
รักเมฆขาวดาวหรูชอบดูเดือน                 แล้วรักเพื่อนรักพรรครักนานา

        ครั้นหนุ่มสาวคราวประจักษ์รักทางเพศ    ข้ามขอบเขตไปกระสันกับตัณหา
น้องรักพี่พี่รักน้องทั้งสองรา                             ชื่นชีวันขวัญชีวาว่าตามกัน

        เมื่ออายุลุถึงวัยได้เป็นหลัก                      เริ่มรู้จักรักใหม่ในความฝัน
รักวิญญาณศรัทธาสารพัน                               รักสวรรค์สายลมยมนา

        ครั้นแก่เฒ่าจวนเข้าโลงโยงใยรัก             เริ่มประจักษ์อนิจจังของสังขาร์
รักสมบัติมรดกตกทอดมา                                รักชีวาของตัวกลัวจะตาย

        จำไว้เถิดเกิดเป็นคนไม่พ้นรัก                           วัฎจักรผลักล่ามหลายความหมาย
รักความงามหยามความเกลียดเหยียดความอาย     มีลวดลายหลายกระบวนชวนมึนเมา

        ฟังเขาร้องมองเขาเล่นเห็นเขาสุข       ไม่มีทุกข์ไม่มีโศกโลกของเขา
ครั้นหันหน้ามามองตัวของเรา                     ไม่ผิดเงาที่โลดแล่นเป็นพิธี...

        ตะแลงแกงแห่งชีวิตไม่ผิดเพี้ยน          ย่อมสับสนวนเวียนเปลี่ยนวิถี
ไม่คำนึงถึงส่วนตัวชั่วหรือดี                         ขอให้มีการสิ้นสุดยุติกัน 
  
      กลางแสงแดดแผดกระพริบระยิบระยับ         มนุษย์ขับรถแข่งอย่างแข็งขัน
เหงื่อจะไหลไคลจะหนาหน้าจะมัน                     เกมพนันอันเพลิดเพลินดำเนินไป

        กลางแสงแดดชาวดินสิ้นแรงร้อน            เพราะแสนเมื่อยเหนื่อยอ่อนนอนหลับใหล
จบบทบาทประจำวันอันหนักใจ                        หลับฝันไกลใต้น้ำค้างกลางแสงดาว

        กลางแสงเทียนริบหรี่สีเหลืองสด             เสียงนักพรตนักบวชสวดกันฉาว
ถ้าทำดีดีจะเห็นเป็นเรื่องราว                            ครั้นถึงคราวทำชั่วจะมัวมน..

       แสงแดดพราวดาวพรายปลายเปลวเทียน      ต่างวกเวียนสอดสลับกันสับสน
เก่งหรือโง่โซหรือสวยรวยหรือจน                           แสงใดดลให้คนแผกแตกต่างกัน

        ช่างมันเถิดจงมาดื่มลืมให้หมด              ถือเป็นกฏบวกลบความขบขัน
ใครจะสุขใครจะโศกช่างโลกมัน                   เขาเหล่านั้นมีราคาค่าแสดง

        ทราบบ้างไหมไยแหล่งโลกจึงโศกเศร้า         ชีวิตเฉาเหงาหงอยเศร้าสร้อยแฝง
นับแต่คลอดออดโอยระโหยแรง                            จนลุแหล่งแห่งสุดท้ายตายจากกัน

        เมื่อสิ้นโชคโลกสลดหมดความสุข           บทบาททุกข์ทับทวีเพิ่มสีสัน
กลีบกุหลาบคราบน้ำตารอยจาบัลย์                   ดุจกังหันแห่งชีวิตลิขิตเรา

        มนุษย์เงียบเยียบหยัดสงัดสงบ          สัตว์สยบซบโศกโลกอับเฉา
ต้นไม้ซมลมกำดัดพัดแผ่วเบา                   สายน้ำเศร้าเสียดสะอื้นซัดพื้นทราย

        เมฆลอยเลื่อนเหมือนหลงเปลี่ยวเกลียวชีวิต       ดาวดวงนิดกะพริบพร่ำน้ำตาฉาย
ฟ้าสีเทาเขาสีเขียวยังเดียวดาย                                    แม้พระพายยังหวิวหวีดกรีดกำนัล

        โลกทั้งโลกโศกสลดกำสรดสุด         เมื่อมนุษย์มิหยุดบาปยังหยาบหยัน
หลงอบายหลายอย่างต่างๆ กัน                 จึงสวรรค์สรรสลดให้ทดแทน

        หากมนุษย์หยุดกิเลสประเภทบาป        จะพบภาพสุดประเสริฐบรรเจิดแสน
ดอกไม้บานเดือนรุ่งยูงรำแพน                       ตลอดแดนตั้งแต่ดินถึงถิ่นดาว

        แมลงปอก้อร่อก้อติกขยิกขยัน        นกกินปลาลาลันสัญจรหาว
ต้นหูกวางกิ่งก้านสะท้านกราว                 เสียงหนุ่มสาวพะเน้าพะนอกลางอ้อคา

        การกำหนดบทรักมักเหมาะสม               ดังวงกลมสมดุลตามประสา
พรหมลิขิตขีดพิกัตเป็นอัตรา                         มีความว่าหญิงชายตายด้วยกัน

        เมื่อรักแท้สุดแต่ว่าชะตารัก            มันจะผลักลงนรกวกสวรรค์
จะเคลียคลอหัวร่อร่าหรือจาบัลย์           สุดแต่กรรมนำผันตามครรลอง

         ฝ่ายชายให้ได้แต่อกแผ่กว้าง        แขนสองข้างร่างมั่นมันสมอง
ฝ่ายหญิงให้พรหมจารีที่ชายปอง           รวมทั้งห้องของหัวใจไม่หวงเลย

        ชายรักหญิงหญิงรักชายตายด้วยกัน         ช่างน่าขันชีวิตนิจจาเอ๋ย
ยามรักกันวันก็ชื่นคืนก็เชย                                ต่างสังเวยแด่ดินฟ้าด้วยสาบาน

        เริ่มที่ตาแล้วหลั่งไหลไปที่จิต            เฝ้าพิศพิศพร่ำพร่ำคำหวานหวาน
รักรักรักต่อไปได้นานนาน                         เฝ้าขานขานคิดคิดชีวิตคน

        รักจะสู้ไยไม่สู้ดูสักตั้ง                        มัวแต่รั้งหวังแต่รอไม่ก่อผล
เอาแต่บ่นก่นแต่พร่ำคำของตน                 ว่าโชควนชีพเวียนไม่เปลี่ยนทาง

        รักจะกล้าไยไม่กล้าหันหน้าสู้            มัวหดหู่ทำไมให้หมองหมาง
อันเล่ห์หลอกซอกซุ้มหรือหลุมพราง        จงแผ้วถางด้วยความหวังกำลังแรง

        อย่าโศกเศร้าแม้นเรานี้มีเพียงแขน     ถึงอ้อนแอ้นอ่อนแอแม้ไม่แข็ง
จงโอบรัดศรัทธามาสำแดง                        แล้วแจกแจงแจ้งจุดยุติธรรม

        อย่าโศกเศร้าแม้นเรานี้มีเพียงขา        ถึงผอมโซโสภาน่าถลำ
จงก้าวหน้ากล้าสู้ประตูกรรม                        เพื่อแน่วนำเจียระไนใจมนุษย์

        แขนทั้งสองของเจ้าจงเฝ้าสู้                ขาทั้งคู่ย่างไปไม่ยอมหยุด
แขนจะล้าขาจะล้มไม่ซมทรุด                      สู้ให้สุดศักดิ์ศรีของชีวิต

        ที่ไกลโพ้นโน่นประทีบชีพช่วงโชติ      แสงรุ่งโรจน์รำไรแจ่มไพจิตร
 ที่ไกลโพ้นโน่นเสียงสรวลของมวลมิตร      ก้าวอีกนิดไกลอีกหน่อยค่อยพักพิง

     เกลียดอะไรก็เกลียดได้หากไร้เกียรติ       แต่อย่าเหยียดเกลียดเหล้าและผู้หญิง...
เพราะชื่นฉ่ำอมฤตศักดิ์สิทธิ์จริง                   หลอมทุกสิ่งอันสดสวยเข้าด้วยกัน

        เชื่ออะไรใครเขาบอกหลอกให้เชื่อ        เอ้า! ดื่มเพื่อความงามและความฝัน
หญิงครองเราเหล้าครองโลกโชคอนันต์       มาประชันบทนักสู้ผู้แสดง

        ต่อให้เป็นทะเลทรายสายน้ำพุ               ร้อนระอุเย็นยะเยียบเปรียบน้ำแข็ง
ไม่ทรุดซมล้มระทดเพราะหมดแรง                จะขอแข่งสู้เป้าหมายตายหรือเป็น

        อันกงเกวียนเวียนวงเป็นกงกรรม            กลางสูงต่ำท่วงทำนองมองไม่เห็น
แต่ตรึงตราจารึกผนึกเซ็น                               ดุจแผลเป็นติดตัวชั่วและดี

        แน่ะ ! เห็นไหมดวงตะวันนั้นลาลับ          แสงสลับเป็นฉัพพรรณรังสี
ตามกำหนดหมดทิวาเริ่มราตรี                        หน่อยคงมีกลุ่มดาวพราวอัมพร

        ทางช้างเผือกผีพุ่งไต้คล้ายเพชรรูป        สะเก็ดวูบสว่างวาบดั่งภาพหลอน
ดูแวววาวพราวพร่างทางโคจร                        มะก่อนนอนดื่มเข้าไปดื่มให้เมา

        แด่พธูผู้ผ่านไปในอดีต                            แด่สังคีตแห่งสินธูและภูเขา
แด่ความฝันอันลำพองของพวกเรา                 ดื่มหมดแล้วเหลือแก้วเปล่า เอ้า! คว่ำลง...




William The Conqueror หรือ William I (ประมาณ 1028-1087)


William The Conqueror หรือ William I : พระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1 หรือที่รู้จักในพระนามว่า " วิลเลี่ยมผู้พิชิต " ดยุกแห่งนอร์มังดี  ผู้เป็นขุนนางที่อำนาจในฝรั่งเศส  และต่อมา...วิลเลี่ยมได้ยกทัพเรื่อไปอังกฤษเพื่ออ้างสิทธิ์ในราชบัลลังก์อังกฤษ (หลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดผู้สารภาพในปี 1042)  และวิลเลี่ยมได้รบชนะ แฮโรลด์ที่ 2 (Harold II) ในสมรภูมิที่เฮสติสส์ (Battle of Hastings) ในปี ค.ศ.1066  ซึ่งถือว่าเป็นจุดจบของการปกครองของพวกแองโกลแซกซอนในอังกฤษ  และวิลเลี่ยมยังได้ทำสงครามกับสก็อตแลนด์และเวลส์ด้วย


ภาพ  วิลเลี่ยมผู้พิชิตในการรบที่เฮสติสส์

วิลเลี่ยมได้สถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์อังกฤษ ในปี 1066  ถือเป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์นอร์มัน (Norman dynasty) และพระองค์ได้นำระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism) มาสู่อังกฤษ  ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสังคมอังกฤษอย่างมากมาย  และเชื่อมโยงให้อังกฤษเป็นส่วนหนึ่งของยุโรปตะวันตกมากขึ้น  และทรงให้มีการสำรวจที่ดินและสำมะโนประชากรไว้  ในหนังสือบันทึกทะเบียนราษฎร์ดูมสเดย์ (Domesday Book) เพื่อสะดวกในการจัดเก็บภาษีและเกณฑ์แรงงาน  ทรงสร้างปราสาทต่างๆมากมายทั่วอังกฤษ  อันเป็นสัญลักษณ์ของระบอบศักดินาอันรุ่งเรือง


ภาพ  ดินแดนของพระเจ้าวิลเลี่ยมที่ 1 ในพื้นที่สีชมพู

เมื่อพระเจ้าวิลเลี่ยมสิ้นพระชนม์  ปัญหาในการสืบราชสมบัติก็เกิดขึ้นทันที  โดยมีการแบ่งกันระหว่างโอรสของพระองค์  กล่าวคือ  เจ้าชายโรเบิร์ต (Robert Curthose) โอรสองค์ใหญ่ได้รับแคว้นนอร์มังดีไป  ขณะที่ตำแหน่งกษัตริย์อังกฤษกลับตกเป็นของเจ้าชายวิลเลียม  ผู้มีฉายาว่า " วิลเลี่ยมหน้าแดง " (William Rufus) และโอรสของเจ้าชายเฮนรีได้รับเพียงเงินจำนวนหนึ่งเท่านั้น

Ibn Gabirol, Solomon Ben Judah : โซโลมอน เบน ยูดาห์ (ประมาณ ค.ศ.1021-1057)


Ibn Gabirol, Solomon Ben Judah : โซโลมอน เบน ยูดาห์  กวีชาวสเปน ยิว  และนักปรัชญาสำนักเพลโตใหม่ที่มีอิทธิพลทางความคิดอย่างกว้างขวางในยุคสมัยนั้น  ดังจะเห็นได้จาก....

งานเขียน ในเรื่อง Fons Vitæ หรือ "น้ำพุแห่งชีวิต" ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอระบบปรัชญาและคำสอนของสำนักเพลโตใหม่  ในเรื่อง...สสาร และ รูปแบบ  นั่นเอง 
โดยอาจสรุปได้ง่ายๆ ดังนี้
  • (1) สรรพสิ่งทั้งหมดในโลกนี้  ถูกสร้างขึ้นจากรูปแบบ และ สสาร
  • (2) โลกของประสาทสัมผัส หรือ สสาร เป็นสิ่งที่จำลองจาก..โลกเหนือประสาทสัมผัส หรือ รูปแบบ ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อกันและกันเสมอ  ผ่านทางพระเจ้าที่เป็นต้นเหตุให้ทุกสรรพสิ่งบังเกิดขึ้น
  • (3) สสารและรูปแบบมีอยู่เสมอในทุกที่  ทุกภาวะ  ทั้งในความเป็นอยู่  เปลี่ยนรูปไป และในการเกิดใหม่ของสสาร โลกทางกายภาพ หรือ จิตวิญญาณ เป็นต้น

อีกทั้ง  บทลำนำชื่อ " มงกุฏพระราชา " ที่มีชื่อเสียงของGabirol  รวมทั้งเรื่องการสารภาพบาป  ที่ในยุคต่อมา...ได้มีผู้นำไปดัดแปลงใช้ประกอบเป็นพิธีสารภาพบาป และ ถือศีลอดของชาวยิว

ในตำนาน Gabirol ถูกฆ่าตายและฝังไว้ใต้รากของต้นมะเดื่อ ในปี คศ. 1058  ซึ่งซากศพของเขาได้ทำให้ผลมะเดือมีรสความหวานพิเศษ  จนเป็นที่อัศจรรย์ของคนทั่วไป  และเป็นเหตุให้นำไปสู่การจับตัวฆาตกรที่ฆ่าเขาได้ในภายหลังอีกด้วย

วาทกรรม : " ตราบเท่าที่ถ้อยคำยังไม่ได้ถูกกล่าวออกไป  ท่านคือนายของมัน  แต่เมื่อนท่านกล่าวออกไปแล้ว  ท่านคือทาสของมัน "

Iba Sina หรือ Avicenna (ประมาณ ค.ศ.980-1037)


Iba Sina หรือ Avicenna อะบูอาลี อัลฮูซัยน์ บินอับดิลลาฮ์ อิบนุซีนา หรือ แอวิเซนนา  นักปราชญ์  นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ชาวเปอร์เซีย  ผู้มีบทบาทสำคัญในด้านการสาธารณสุขในเปอร์เซีย สมัยยุคทองของรัฐอิสลาม  ซึ่งเขาได้เขียนหนังสือตำราการแพทย์  ปรัชญา...และอื่นๆอีกมากมาย  ที่ได้รวบรวมความรู้จากกรีก  เปอร์เซีย  เมโสโปเตเมียและอินเดีย  ไว้อย่างเป็นระบบ  แอวิเซนนาเริ่มการแพทย์แบบทดลองที่นำไปสู่การค้นพบเชื้อโรค..หลายชนิด  และเขาเป็นผู้ริเริ่มใช้วิธีกักกันโรคและผู้ป่วยด้วย  ถือว่าเป็นบิดาของการแพทย์ในยุกแรกๆ  ที่เริ่มมีองค์ความรู้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น  ตำราของแอวิเซนนาได้รับการสอนในมหาวิทยาลัยในยุคต่อมาจนถึงปี ค.ศ.1650

ภาพ  สำเนาตำรา Canon of Medicine ของแอวิเซนนา

ผลงานที่สำคัญที่สุดคือ หนังสือชุด Canon of Medicine ที่แอวิเซนนาได้เขียนและประยุกต์มาจากทฤษฎีของฮิปโปเครติส  อริสโตเติล  ไดออสคอร์ไรด์  กาเลน และบุคคลสำคัญในวงการแพทย์อื่นๆ โดยเขาได้สอดแทรกทฤษฏีและการสังเกตของเขาเองลงไปด้วย

หนังสืออีกชุดของแอวิเซนนาเป็นเนื้อหาทางด้านเภสัชวิทยาและพืชสมุนไพร ถือเป็นตำราพื้นฐานแพทย์ที่สำคัญของโลกมุสลิมและคริสเตียน แต่ในภายหลัง...ทฤษฎีของเขาก็ถูกลดทอนความน่าเชื่อถือลงเมื่อ ลีโอนาร์โด ดา วินชี ได้ปฏิเสธตำรากายวิภาคของเขา และพาราเซลลัสได้เผาสำเนาตำรา Canon of Medicine ที่ใช้สอนกันในสวิสเซอร์แลนด์ และวิลเลียม  ฮาร์วีย์นายแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ  ได้ล้มทฤษฎีของเขาในเรื่องการค้นพบระบบหมุนเวียนโลหิตในร่างกายของคน

ภาพ แบงค์ทาจิกีสถานโซโลมอน  ที่มีภาพของแอวิเซนนา

แต่กระนั้น  เขาก็ยังเป็นผู้บุกเบิกงานเขียนในหลายๆด้านด้วย เช่น ปรัชญา  ดาราศาสตร์  การเล่นแร่แปลธาตุ  ภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา  จิตวิทยา  ศาสนาอิสลาม  ตรรกะ  คณิตศาสตร์  ฟิสิกส์และบทกวี...อีกมากมาย

แอวิเซนนาเสียชีวิตในมิถุนายน ค.ศ.1037 ด้วยวัยเพียง 58 ปี  ในเดือนรอมฏอน  และ ร่างของเขาถูกฝังอยู่ใน Hamadan ประเทศอิหร่าน

วาทกรรม : " เนื้องจากทุกสิ่งล้วนมีสาเหตุที่มา  ความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  ไม่สามารถได้มาหรือไม่อาจสมบูรณ์ได้  นอกเสียจากเราจะรู้สาเหตุที่มาของมัน "

Murasaki Shikibu : มุระซะกิ ชิกิบุ (ประมาณ ค.ศ.976-1026)


Murasaki Shikibu ; มุระซะกิ ชิกิบุ ธิดาในเชื้อสายตระกูลฟุจิวะระ  เธอเป็นนักเขียนนวนิยายและกวีสตรีชาวญี่ปุ่น  ผู้เขียนเรื่องตำนานเกนจิ : Genji  Monogatari ในปี ค.ศ.1010  ที่ถือว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิคที่ยิ่งใหญ่ของญี่ปุ่น  และอาจเป็นนิยายร้อยแก้วเรื่องแรกของโลก  และรวมทั้ง " มุคุระโนะโซซิ " (Makura-no-sOshi) ที่เรียกว่า " หนังสือข้างหมอน " ซึ่งวรรณกรรมเหล่านี้เขียนด้วยตัวอักษรคะนะ

มุระซะกิทำงานอยู่ในราชสำนักในสมัยเฮอัน  ในราวปีคันโคที่ 2 ( Kanko 2 ) หรือ ราวปี ค ศ.1005 โดยมุระซะกิได้รับตำแหน่งให้ทำหน้าที่เป็นผู้ติดตามของ โชชิ (Soshi)บุตรสาวของฟุจิวะระ โนะ มิจินะงะ ( Fujiwara Michinaga ) ขุนนางผู้ยิ่งใหญ่  ที่ต่อมา โซชิ ได้ขึ้นเป็นจักรพรรดินีในจักรพรรดิอิจิโจ 


ภาพ  ฉากหนึ่งในนวนิยายเรื่องตำนานเกนจิ

ยุคสมัยเฮอัน  นักประวัติศาสตร์ได้แบ่งออกเป็น 2 ช่วงสำคัญ  คือ  ยุคสมัยเฮอันตอนต้น ค.ศ.782-967  และยุคเฮดันตอนปลาย ค.ศ.967-1167  ซึ่งยุคสมัยเฮอันนับเป็นยุคทองของประเทศญี่ปุ่น ทั้งทางศิลปะและวัฒนธรรมที่รุ่งเรืองจนถึงขีดสุด  โดยได้มีการพัฒนาปรับปรุงวัฒนธรรมต่างๆที่หยิบยืมมาจากประเทศจีนในสมัยราชวงศ์ถังและลัทธิเต๋า  ให้กลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะตัวแบบของชาวญี่ปุ่น และ " เฮอัน"  แปลว่า " ความสงบสันติ"

ติดตามผ่าน FACEBOOK

Video Of Week : เส้นทางนักบุกเบิก สตีฟ จ๊อบส์

Live Currency Cross Rates


The Forex Quotes are powered by Investing.com.

ไขปริศนาคดีฆาตกรต่อเนื่องโดย นักฆ่าโซดิแอค

โพสต์แนะนำ

Anton Van Leeuwenhoeh : ลีเวนฮุ๊ค (ค.ศ.1632-1723)

Anton Van Leeuwenhoeh : ลีเวนฮุ๊ค  นักชีววิทยาชาวดัชท์  ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น " บิดาแห่งจุลชีววิทยาการ " ( the Father of M...

บทความที่ได้รับความนิยม

Kategori

สนับสนุนเว็บไซด์

หนังคาวบอยดี.. ดูฟรี ออนไลน์

Kategori