ทีโค บราห์เกิดในแวดวงชนชั้นสูงที่มั่งคั่ง บิดามีตำแหน่งเป็นองคมนตรีของราชสำนักเดนมาร์ค แต่บราห์ถูกลุงชื่อ เจอร์เกน (Jorgen) ที่เป็นมหาเศรษฐีร่ำรวยมาก..ขอไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่ยังเล็ก ซึ่งเขาก็ได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอย่างดีเลิศ และเข้าเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน แต่ในวัยเพียง 14 ปี เขาได้หันไปสนใจในเรื่องดาราศาสตร์อย่างจริงจัง..และละทิ้งวิชากฎหมาย และไปเขาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยไลฟ์ซิก (University of Leipzig) ประเทศเยอรมัน ในปี ค.ศ.1562-1565 และเริ่มต้นสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ (ในยุคที่ยังไม่มีกล้องดูดาว) โดยบราห์ได้ทำการศึกษาตรวจสอบและแก้ไขตารางดาว Table ของโคเปอร์นิคัสที่ยังคลาดเคลื่อนอยู่ให้ถูกต้องยิ่งขึ้นในเวลาต่อมา และหลังจากจบการศึกษาจากไลฟ์ซิกแล้ว เขาได้ออกเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วเยอรมัน เพื่อดูงานและหาประสบการณ์ทางดาราศาสตร์ เช่น ที่เมืองวิทเทนเบิร์ก (Wittenberg) รอสต็อค (Rostock) บาเซล (Basel) และอ๊อกซเบิร์ก (Augsburg) และเสาะแสวงหาซื้อเครื่องมือทางคณิตศาสตร์และดาราศาสตร์สะสมไว้ได้มากมายหลายชิ้น จนถึงในปี 1571 บราห์ได้กลับไป..ตั้งรกรากอาศัยอยู่ที่เมืองสแคเนีย (Scania) บ้านเกิดของเขา โดยบราห์ได้รับมรดกเป็นที่ดินและทรัพย์สินจากบิดาและลุงรวมกัน...มากพอที่จะสร้างหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ได้ด้วยทุนส่วนตัว และในปี 1572 เขาสามารถค้นพบดาวดวงใหม่ที่มีแสงส่องสว่างสุกใสมากกว่าดาวศุกร์ (Venus) และดาวอื่นๆทางทิศเหนือ (Cassiopeia) และได้เขียนหนังสือชื่อ " De nova stella หรือ New Star " ออกตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ค.ศ.1573 ซึ่งอธิบายถึงการค้นพบการระเบิดของดาวที่ปัจจุบันเรียกว่าซุปเปอร์โนวา ที่ทำให้คนทั่วทั้งยุโรปมีความตื่นเต้นและเป็นที่สนใจอย่างมาก และทำให้บราห์มีชื่อเสียงโด่งดังในแวดวงนักดาราศาสตร์โลก
ต่อมา.,ในปี ค.ศ.1576 พระเจ้าเฟรเดริคที่ 2 (King Frederick : II) แห่งเดนมาร์กได้ประทานเงินทุน 20,000 ปอนด์ และเกาะเล็กๆแห่งหนึ่งชื่อ เกาะเว็น (Island of Ven หรือ Hven) ที่ตั้งอยู่กลางทะเลช่องแคบ " เดอะซาวน์ " (The Sound) ซึ่งเป็นช่องแคบที่เชื่อมต่อระหว่างทะเลบอลติกกับทะเลเหนือ เพื่อสร้างปราสาทและหอปฏิบัติการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ใหญ่กว่าที่เดิม โดยบราห์ได้ตั้งชื่อปราสาทและหอดูดาวนี้ว่า " ยูเรนิเบิร์ก " (Uraniborg) ที่แปลว่า " ปราสาทสวรรค์ " ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น " ยูเรเนีย " (Urania) ซึ่งได้กลายเป็นหอดูดาวที่มีชื่อเสียงที่สุดในยุโรปตอนเหนือ โดยทีโค บราห์ ได้เป็นผู้อำนวยการและทำการศึกษาค้นคว้าอยู่ที่หอดูดาวนี้นานกว่า 20 ปี โดยได้ทำการรวบรวมบันทึกผลงานและการสังเกตปรากฎการณ์บนท้องฟ้าไว้ได้มากมาย
ภาพ ระบบ Tychonic system ของทีโค บราห์
ที่อธิบายการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ของโลกและดาวเคราะห์
ผลงานทางดาราศาสตร์ที่สำคัญของ ที่โค บราห์ พอสรุปได้ดังนี้
1) ทีโค บราห์ เป็นคนแรกที่ทำบัญชีตารางดวงดาวและสร้างแผนผังไว้อย่างถูกต้องแม่นยำ ที่นักเดินเรือหลายยุคสมัยได้ใช้ในการเดินเรือต่อๆกันมาจนถึงปัจจุบัน
2) ทีโค บราห์ เป็นผู้ริเริ่มนำเอาวิธีการเฝ้าติดตามดูวิถีโคจร (orbit) ของดาวเคราะห์ (Planets) ซึ่งทำให้เกิดวิชาดาราศาสตร์สังเกตการณ์ (Observational Astronomy) ในเวลาต่อมา
3) ทีโค บราห์ กล่าวว่า " การเฝ้าติดตามดูดวงดาว (Observation) นั้น จะต้องมีทฤษฏีเป็นหลักหรือเป็นแนวทาง ดังนั้น เขาจึงสร้างระบบดาวเคราะห์ขึ้น โดยให้โลกเป็นศูนย์กลาง ซึ่งดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จะโครจหมุนรอบโลกกินเวลาเป็น 24 ชั่วโมง และในขณะที่หมุนไปนั้นได้ทำให้ดาวเคราะห์ทั้งหมดหมุนตามไปด้วย และดาวเคราะห์ทั้งหมดนั้นก็หมุนรอบดวงอาทิตย์อีกทีหนึ่ง " เป็นต้น
ในปี ค.ศ.1597 หลังจากสิ้นรัชสมัยพระเจ้าเฟรเดริคที่ 2 และเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทีโค บราห์ จึงได้อำลาจากหอดูดาวยูเรเนีย ไปพำนักอยู่ที่กรุุงปร๊าค (Prague) ประเทศโบฮีเมีย (หรือเชโกสโลวาเกีย) โดยการรับเชิญจากจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 (Emperor Rudolf II) ซึ่งได้ประทานปราสาทที่เบนาเทค (Benatek) ในแทบชานกรุงปร๊าคให้ใช้ดัดแปลงเป็นหอดูดาว ซึ่งที่นี่เอง.. บราห์ได้ทำบัญชี (Catalog) ของดาวดาวต่างๆถึง 777 ดวง และค้นพบดาวหาง (Comet) ที่มีแสงสว่างมากจนสามารถหา Parallax ได้ด้วย นอกจากนี่..บราห์ยังมีลูกศิษย์ลูกหามากมาย และหนึ่งในนั้น คือ โยฮันเนส เคปเลอร์ (Johannes Kepler) นักดาราศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงชาวเยอรมัน ที่มารับช่วงเป็นผู้อำนวยการหอดูดาวและทำงานค้นคว้าทางดาราศาสตร์ต่อไป หลังจากทีโค บราห์เสียชีวิตลงด้วยอาการนิวในไต (kidney stone) ในวันที่ 24 ตุลาคม ค.ศ.1601
EmoticonEmoticon